คำสำคัญที่พบบ่อยในข่าวสารทองคำ

30 / 06 / 2563 16:38

ในข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการซื้อขายทองคำ มักพบคำย่อ หรือคำเรียกหน่วยงานต่างๆที่บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงหน่วยงานใดหรือมีความหมายว่าอย่างไร บทความนี้จึงขอนำเสนอคำที่พบเห็นได้บ่อยๆตามบทความหรือข่าวสารต่างๆเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาของข่าวสารนั้นๆมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.SPDR หรือ SPDR Gold Trust เป็นชื่อเรียกกองทุนเปิดดัชนีที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Exchange Traded Fund : ETF) เป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการ ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำในตลาดลอนดอน คือ London Gold PM Fix Price มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงโดยไม่มีการใช้ตราสารอนุพันธ์หรือมีการให้ยืมทองคำแท่งกับผู้ลงทุน SPDR Gold Trust มีผู้เก็บรักษาทองคำแท่งให้ ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ สหรัฐอเมริกา (HSBC Bank USA, N.A.) กองทุน SPDR Gold Trust จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง ได้แก่ นิวยอร์ก สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น กองทุน Feeder Fund หลายกองทุนในประเทศต่างๆ ก็มีนโยบายลงทุนใน SPDR Gold Trust อีกทีหนึ่ง ซึ่งรวบรวมคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนจากนักลงทุนรายย่อย หรือสถาบันในประเทศนั้นๆ มาอีกทอดหนึ่ง ระดับการถือครองทองคำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของ SPDR Gold Trust จึงเป็นตัวสะท้อนมุมมองต่อทองคำของนักลงทุนจากทั่วโลก

2.FED (Federal Reserve Bank) ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งนาย​เจอโรม โพเวลล์ เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่ นโยบายทางการเงินและภาษีของสหรัฐฯ จึงมีผลอย่างมากต่อตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้นเราจึงมักพบชื่อของนายเจอโรม โพเวลล์ อยู่บ่อยครั้งในข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน รวมถึงทองคำด้วย

3.FOMC (The Federal Open Market Committee) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) มีหน้าที่ในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง  เช่น นโยบายดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึง ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ว่ามีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอมากน้อยเพียงใด หรือแม้กระทั่งสะท้อนภาวะเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆ FOMC จะมีการประชุมทุกๆ 6 สัปดาห์หรือปีละ 8 ครั้ง

4.ECB (European Central Bank) ธนาคารกลางแห่งยุโรป มีบทบาทหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาค่าเงินยูโร และ ดำเนินนโยบายการเงินที่ที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ปัจจุบันมีนางคริสตีน ลาการ์ด เป็นผู้ว่าการ

5.BOE (Bank of England) ธนาคารกลางอังกฤษ ถือเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีความสำคัญต่อทิศทางและนโยบายของเศรษฐกิจโลกประเทศหนึ่ง มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลและปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของอังกฤษปัจจุบันมีนายแอนดรูว์ เบลลีย์ เป็นผู้ว่าการฯ

6.IMF (International Monetary Fund) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมเงิน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวและดุลยภาพของการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีนางคริสตาลินา จอร์เจียวาเป็นผู้อำนวยการผู้อำนวยการกองทุน