ส่องพฤติกรรมการบริโภคเครื่องประดับของคนอเมริกัน หลังวิกฤติโควิด19

29 / 09 / 2563 17:03

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมากเป็นอันดับ 5 ของโลกและของไทย แต่เนื่อจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การนำเข้าลดลงอย่างมาก  จากข้อมูลสถิติของ Global Trade Atlast พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงเกือบ 60% และจากสถิติกรมศุลกากรไทยพบว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยลดลงถึงเกือบ 30%  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเพชรเจียระไน 

นอกจากปริมาณการนำเข้าจะลดลงแล้ว ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ยังทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องประดับของชาวสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยDe Beers ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคมนช่งที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงที่มีการกักตัวอยู่กับบ้านทำให้ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นใช้เวลาเดินทางน้อยลง ทำให้ความรู้สึกนี้เชื่อมโยงและขยายไปสู่การสวมใส่เครื่องประดับด้วยเพราะมีการนำเครื่องใส่เครื่องประดับเพชรออกมาสวมใส่แม้ว่าจะอยู่ในบ้านก็ตาม เพราะทำให้รู้สึกเชื่อมต่อกับใครบางคน นั่นเอง
           
ในส่วนของการเลือกซื้อของขวัญ ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% ระบุว่า ของขวัญที่ซื้อในครั้งต่อไปจะต้องมีความหมายเหนือสิ่ง อื่นใด และ 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การเลือกของขวัญที่คงมูลค่าหรือเพิ่มมูลค่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการซื้อของขวัญ ในครั้งต่อไป โดยเครื่องประดับเพชรก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆเหนือของขวัญชนิดอื่น อย่าง เสื้อผ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ 

นอกจากนี้ผู้บริโภคจะซื้อน้อยแต่จ่ายมากสำหรับสินค้าที่ต้องการซื้อ  ผลการสำรวจที่น่าสนใจคือ 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า จะซื้อสินค้าน้อยชิ้นแต่ลงทุนในสิ่งที่ซื้อมากขึ้นคือ ซื้อน้อยแต่จ่ายแพงกับสิ่งที่เพิ่มมูลค่าในอนาคตนั่นเอง

           สุดท้ายผู้บริโภคจะกลับไปซื้อสินค้าจากร้านค้าเครื่องประดับแบบอิสระ เพราะผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าร้านค้าปลีกอิสระของท้องถิ่นเป็นแหล่งที่ดี ที่สุดสำหรับการหาความรู้และคุณภาพของสินค้าที่จับต้องได้ อีกทั้งร้านค้าปลีกเครื่องประดับท้องถิ่นแบบดั้งเดิมยังเป็นทางเลือกของการ ซื้อเครื่องประดับราคาแพงที่ปลอดภัยที่สุด

นอกจากนี้จากงานวิจัยของ De Beers ยังระบุว่าเพชรจะมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในโลกหลังโควิด-19 แม้ว่าตลาดเพชรจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่งก็ตาม และจากผลการศึกษาครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้ค้าเครื่องประดับเข้าใจมุมมองของ ผู้บริโภคเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ได้

  ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)