อุตสาหกรรมเหมืองทองในสปป.ลาวคึกคัก รับราคาทองคำโลก

29 / 09 / 2563 17:06

อุตสาหกรรมเหมืองทองคำใน สปป.ลาว อยู่ในภาวะซบเซามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ภายหลังจากบริษัท MMG Limited ซึ่งได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองแดงและทองคำที่เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ประกาศหยุดการขุดแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว เนื่องจากความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อกำไรของบริษัทฯ โดยคงไว้เฉพาะกิจกรรมขุดแร่ทองแดงเท่านั้น
         
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัท MMG Limited ขายหุ้นของตนในสัดส่วนร้อยละ ๙๐ ของบริษัท Lane Xang Minerals Limited ให้แก่บริษัท Chifeng Jilong Gold Mining ด้วยมูลค่า ๒๗๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว บริษัท Chifeng Jilong ประกาศแผนที่จะเริ่มต้นการขุดแร่ทองคำที่เหมืองเซโปนอีกครั้งในปี ๒๕๖๓ ในจำนวน ๑-๑.๖ ตัน และเพิ่มเป็น ๗ ตันในปี ๒๕๖๔
         
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำและโลหะขยับตัวสูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการของเหมืองเซโปนกระเตื้องขึ้นตามไปด้วยและสามารถกลับมาทำ กำไรได้อีกครั้ง สถานการณ์ด้านราคาดังกล่าว ทำให้บริษัท Chifeng Jilong ประกาศเริ่มการผลิตแร่ทองคำโดยตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถผลิตทองคำเพื่อป้อนตลาดได้สำเร็จในช่วงต้นมิถุนายน ๒๕๖๓
          
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ อุตสาหกรรมพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาว มีอัตราการขยายตัว ร้อยละ ๑๑ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง ๕ ปี (๒๕๕๔-๒๕๕๘) ก่อนหน้า แบ่งเป็นภาคพลังงานขยายตัวร้อยละ ๑๕๔ และภาคเหมืองแร่หดตัวลงร้อยละ ๑๘.๖๙ โดยคาดว่าในปี ๒๕๖๓ การผลิตรวมของอุตสาหกรรมจะมีมูลค่า ๑๓๐,๕๒๐ พันล้านกีบ (ประมาณ ๔๓๕,๐๐๐ ล้านบาท) และในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๓ สปป.ลาว ส่งออกทองคำคิดเป็นมูลค่า ๑๒๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกทองแดงและสิ่งของที่ทำจากทองแดง คิดเป็นมูลค่า ๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
         
ปัจจุบัน มีบริษัทเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมธรณีศาสตร์และแร่ธาตุใน สปป.ลาว แล้ว จำนวน ๑๙๓ บริษัท โดยเริ่มดำเนินการแล้ว ๘๑ บริษัท อยู่ระหว่างการสำรวจแหล่งแร่ธาตุ ๖๙ บริษัท และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ๔๓ บริษัท

ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต