ความต้องการเครื่องประดับทองลดลงทั่วโลก ปัญหาจากราคาทองพุ่งไม่หยุด

29 / 09 / 2563 17:06

ผ่านครึ่งปีแรกไปด้วยความร้อนแรงของราคาทองคำที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีขยับลงบ้างในช่วงแคบๆแต่ก็ยังคงเป็นช่วงขาขึ้นอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของภาวะตลาดทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ทองคำจึงกลายเป็นทางเลือกของการลงทุน และธนาคารกลางทั่วโลกยังใช้ทองคำเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว  ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นนี้ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

จากรายงาน “แนวโน้มความต้องการทองคำ” (Gold Demand Trends) ของสภาทองคำโลก ( World Gold Council) ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยลดลงถึงร้อยละ 53 เหลือเพียง 251 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2019 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดลงกว่าร้อยละ 46 เหลือเพียง 572 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทาง

ตามรายงานระบุว่าตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่ของโลกทั้งจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ต่างมีความต้องการลดต่ำลง โดยความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของจีนลดลงร้อยละ 33    ส่งผลให้ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 152.2 ตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 52 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2007 เป็นต้นมา

ส่วนความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียก็ลดลงเช่นกัน  โดยลดลงถึงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 44 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดเท่าที่ World Gold Council เก็บข้อมูลมาในช่วงหลายปี ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึงร้อยละ 60 มาอยู่ที่ 117.8 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา
           
นอกจากนี้ World Gold Council ยังระบุว่าความต้องการเครื่องประดับทองโดยรวมของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี ส่วนในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2020 อุปสงค์เครื่องประดับทองในสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 34 เหลือเพียง 19 ตัน ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในช่วง 10 ปี  สาเหตุที่ความต้องการเครื่องประดับทองลดต่ำลงหลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอดหลายปีนั้น เป็นเพราะการปิดร้านในช่วง COVID-19 ที่อบยู่ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลอีสเตอร์และวันแม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ปกติจะมีการซื้อเครื่องประดับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองในสหรัฐฯ ลดลง และแม้ว่าปัจจุบันร้านค้าเครื่องประดับจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ตลาดเครื่องประดับทองก็ยังไม่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ราคาทองคำในตลาดโลกเคยเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดลทำ All Time High ครั้งใหม่ที่ระดับราคา 2,075 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2020 ซึ่งนับว่าเป็นราคาสูงสุดของโลหะมีค่าชนิดนี้เท่าที่เคยมีมาก่อน  ก่อนที่ปัจจุบันราคาทองคำจะกลับเข้าสู่ภาวะการปรับฐานขยับลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์แล้ว แต่ก็คาดว่าตลาดเครื่องประดับทองคำจะยังคงซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง