เหรียญทองคำแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

29 / 09 / 2563 17:10

เมื่อปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำขึ้นเป็นครั้งแรก มี 3 ชนิดราคา เรียกว่า เหรียญกษาปณ์ทองคำ ทศ พิศ พัดดึงส์ และนำออกใช้ หมุนเวียนชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตลอดจนค้าขายกับชาวต่างชาติได้ควบคู่กับเหรียญกษาปณ์เงินที่ใช้อยู่ในระบบ

เหรียญกษาปณ์ทองคำที่ผลิตขึ้นในครั้งนั้นมีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ขอบมีเฟืองจักร ด้านหน้าเหรียญทองทศ และทองพิศมีตราพระมหามงกุฎ ยอดเปล่งรัศมี มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง รอบวงขอบเหรียญมีจุดไข่ปลา ระหว่างฉัตรและพระมหามงกุฎมีลายกนก ส่วนเหรียญทองพัดดึงส์มีลายกนกทั้งด้านนอกและด้านในฉัตร รอบวงขอบเหรียญมีเกสรดอกไม้ โดยรอบ ด้านหลังมีรูปช้างยืนอยู่ตรงกลางวงจักร รอบวงขอบเหรียญมีลวดลายเหมือนด้านหน้า

เหรียญทองคำทศ คือ เหรียญกษาปณ์ทองคำขนาดใหญ่ (22 มิลลิเมตร) ราคาเหรียญละ 8 บาท (2 ตำลึง) ทศ แปลว่า 10 มีค่าเท่ากับ 1 ใน 10 ของชั่ง หมายถึง จำนวนเหรียญ 10 เหรียญ เท่ากับ 1 ชั่ง

เหรียญทองคำพิศ คือ เหรียญกษาปณ์ทองคำขนาดกลาง (17 มิลลิเมตร) ราคาเหรียญละ 4 บาท (1 ตำลึง) พิศ แปลว่า 20 มีค่าเท่ากับ 1 ใน 20 ของชั่ง หมายถึง จำนวนเหรียญ 20 เหรียญ เท่ากับ 1 ชั่ง

เหรียญทองคำพัดดึงส์ คือ เหรียญกษาปณ์ทองคำขนาดเล็ก (16 มิลลิเมตร) ราคาเหรียญละ 2 บาทกึ่ง (10 สลึง) พัดดึงส์ แปลว่า 32 มีค่าเท่ากับ 1 ใน 32 ของชั่ง หมายถึง จำนวนเหรียญ 32 เหรียญ เท่ากับ 1 ชั่ง 

นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2407 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเหรียญแต้เม้งทงป้อขึ้น เป็นเหรียญทองคำและเงิน มีน้ำหนัก 4 บาท หรือ น้ำหนัก 60 กรัม เท่ากับจำนวน พระชนมายุของพระองค์ บอกชนิดราคาเป็นรูปดาวบนหน้าเหรียญที่วงขอบเหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญกลม แบน ขอบเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร ด้านหน้าเป็นตราพระมหามงกุฎ ยอดเปล่งรัศมี มีฉัตร กระหนาบอยู่ 2 ข้าง มีลายกิ่งไม้เป็นเปลวแทรกอยู่ในท้องลาย มีดาวอยู่รอบวงขอบ 32 ดวง หมายถึง 32 เฟื้อง ราคาเท่ากับ 4 บาท น้ำหนัก 1 ตำลึง รอบวงขอบเป็นลายเกสรดอกไม้ด้านหลังเป็นลายแก้วชิงดวง หรือลายรวงผึ้ง มีอักษร "กรุงสยาม" อยู่กลางเหรียญ มีอักษรจีนอยู่ 4 ทิศ อ่านออกสำเนียงภาษาแต้จิ๋วว่า "แต้เม้งทงป้อ" แปลว่า ทรัพย์สินเงินตราของ "แต้เม้ง" (พระปรมาภิไธยอย่างจีนของรัชกาลที่ 4) ทำให้นิยม เรียกเหรียญนี้ว่า "เหรียญแต้เม้ง"

ความพิเศษของเหรียญแต้เม้ง คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มี พระบรมราชานุญาตนำไปใช้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมถึงจุดเด่นอีกประการคือ เป็นเหรียญกษาปณ์ สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เพราะมีราคาระบุที่หน้าเหรียญ แต่ด้วยความที่จำนวนการผลิตมีน้อย จึงเป็นที่นิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา