กำพูฉัตร เทวดารักษาฉัตร

28 / 10 / 2563 16:42

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด มากกว่าพระมหาพิชัยมงกุฎและแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ คือ มหาเศวตฉัตร หรือที่เรียกว่า "นพปฎลมหาเศวตฉัตร" เป็นฉัตร ๙ ชั้น มียอด ขลิบทอง แผ่ลวด และหุ้มผ้าขาวระบาย ๓ ชั้น 

มหาเศวตฉัตรนี้จะไม่มีการเปลี่ยนใหม่โดยเด็ดขาดนับจากวันที่ประดิษฐานขึ้นวันแรกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ ยกเว้นจะมีการเปลี่ยนรัชกาลที่จึงมีการเปลี่ยนพระมหาเศวตฉัตรองค์ใหม่ และเลื่อนมหาเศวตฉัตรองค์เดิมที่ผ่านรัชกาลนั้นไปแล้วลง หรือหากว่ามหาเศวตฉัตรองค์นั้นใช้มานานมากจนขาด หลุดร่วง เปื่อยยุ่ยเป็นผง จึงจะทำการเปลี่ยนใหม่แม้จะยังไม่เปลี่ยนรัชกาลก็ตาม 

อย่างไรก็ตามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในระหว่างรัชกาล เพราะปรับปรุงนพปฎลมหาเศวตฉัตรหลายย่าง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หุ้มทองเกลี้ยงที่คันและซี่ฉัตร หุ้มทองลงยาราชาวดีที่กำพูและยอดพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

เศวตฉัตรนั้นประกอบด้วย ส่วนของแกนกลางของฉัตร ที่เรียกว่าคันฉัตร และตัวฉัตร โดยมีส่วนที่ทำให้ฉัตรสามารถกางและหุบได้เช่นเดียวกับร่ม เรียกว่ากำพูฉัตรเป็นรูปเทวดาทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีประดับอัญมณี อยู่ในท่าเหาะพระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์อีกข้างยกขึ้นเสมอพระเศียรกำก้านโลหะอันสอดตรึงไว้กับคันฉัตรใต้กำพู มีมาลัยห้อยโดยรอบเพื่อเป็นการถวายเป็นเทพบูชาแด่เทพยดาที่รักษาฉัตร

พระมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้นนี้ มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ของไทยเป็นใหญ่เหนือทิศทั้ง ๙  คือ
ทิศหลัก ๔ ทิศ คือ เหนือ ใต้ ออก ตก ทิศรอง ๔ ทิศ คือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศที่ ๙ คือเบื้องล่างและทิศที่ ๑๐ คือทิศเบื้องบน

ทั้ง ๙ ทิศ พระมหากษัตริย์ไทยทรงถือครองว่าอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ ส่วนทิศที่ ๑๐ หรือทิศเบื้องบนนั้น พระองค์ได้ถวายให้เป็นที่สถิตแห่งปวงเทพเทวาเทวดาทั้งหลาย ซึ่งพระมหาเศวตฉัตรนี้ ยังมีนัยยะสำคัญถึงร่มเงาแห่งพสกนิกรขององค์พระมหากษัตริย์