ต่างหู กระจอน ความงาม และความเชื่อที่แตกต่าง

28 / 10 / 2563 16:45

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มนุษย์รู้จักการนำสิ่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้ทำเป็นต่างหู มานานหลายพันปีมาแล้ว โดยไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายจำนวนมากก็เลือกที่จะสวมใส่ต่างหูแต่ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เป็นความหมายในเชิงสัญลักษณ์ท่เกี่ยวข้องกับกับศรัทธา ศาสนา และความเชื่อ 

ในบางวัฒนธรรม ต่างหูถูกนำไปใช้เชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมต่างๆ เช่น การใส่ต่างหูของสตรีชาวจีนในสมัยโบราณ เพื่อเตือนสติให้สาวๆ ระมัดระวังกริยาและความประพฤติ รวมถึงการวางตัวให้เหมาะสม ขณะที่ในบางวัฒนธรรมต่างหูคือ การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตกทอดมาจากบรรพบุรุษ  อย่างเข่น กระจอน ซึ่งพบได้ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 

กระจอน หรือ กระจ้อน หรือ ขะจอน  เป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในหมู่สตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทย-เขมร ไทลื้อ ไทย-ลาว และภูไท ซึ่งอาศัยอยู่ทางแถบอีสานใต้ของไทย เป็นต่างหูโบราณที่ส่วนหัวมีลักษณะเป็นแป้นวงกลมเชื่อมติดเข้ากับส่วนก้านที่โค้งงอเหมือนตะขอ หากมีการตกแต่งด้วยตุ้งติ้งห้อยระย้าย้อยลงมา จะเรียกว่า กระจอนยอย เมื่อสวมแล้วส่วนก้านจะห้อยลงมาจากด้านหลังใบหู โดยก้านของกระจอนนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านของต่างหูทั่วไป ผู้หญิงที่จะสวมกระจอน ต้องเจาะรูที่ปลายใบหูให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติ 

กระจอน มีลวดลายละเอียด ซับซ้อน สวยงาม ส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ เช่น ดอกแก้ว หรือดอกพิกุล ส่วนใหญ่ทำมาจากโลหะมีค่า ทั้งทองคำและเงิน แต่ก็ยังพบกระจอนที่ทำจากทองเหลืองได้เหมืนกัน ซึ่งวัสดุที่ใช้สามารถบ่งบอกฐานะ และสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การใส่ต่างหูและกระจอนไม่ได้เชื่อมโยงกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมอีกต่อไปแต่เน้นเรื่องของความสวยงามและแฟชั่นเป็นหลัก 

ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นแม่เฒ่าสวมกระจอนในโอกาสงานบุญต่างๆอยู่บ้าง  แต่ก็ดูเหมือนจะลดน้อยลง ด้วยถูกมองว่าล้าสมัยในสายตาคนยุคใหม่ อีกทั้งช่างฝีมือชั้นครูต่างก็ล้มหายตายจากไปมาก ที่หลงเหลืออยู่ก็มีจำนวนไม่มากนัก ยิ่งทำให้กระจอนซึ่งเป็นเครื่องประดับอันทรงคุณค่ากำลังจะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย