ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกร่วงต่อเนื่อง

28 / 10 / 2563 16:46

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง สงผลให้ตลาดเครื่องประดับทองรายใหญ่ของโลกอย่างจีน และอินเดียหดตัวลง โดยตัวเลขความต้องการเครื่องประดับทองลดลงมากกว่าร้อยละ๕๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมไปถึงความต้องการเครื่องประดับทองจากทั่วโลกก็ร่วงลงเช่นเดียวกัน

ตลาดสำคัญอย่างตะวันออกกลางและตุรกี ซึ่งเคยเป็นตลาดใหญ่และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ความต้องการเครื่องประดับทองลดลงมากอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยความต้องการเครื่องประดับทองในตุรกีและตะวันออกกลางร่วงลงถึงร้อยละ 69 ในไตรมาสที่สองเหลือเพียง 3 ตันในตุรกี ซึ่งนับเป็นความต้องการรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในฐานข้อมูลของ World Gold Council ส่วนตลาดตะวันออกกลางความต้องการเครื่องประดับทองลดลงมาอยู่ที่ 13.6 ตัน โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์มีความต้องการลดต่ำลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  คือลดลงร้อยละ 86 มาอยู่ที่ 1.3 ตัน และความต้องการเครื่องประดับทองในอิหร่านลดลงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ปริมาณ 10.2 ตัน

ในตลาดประเทศตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐ ลดลงมากถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 19.1 ตัน ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีความต้องการต่ำที่สุด ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 21 มาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบแปดปีที่ 41.9 ตัน ซึ่งการปิดร้านเนื่องจาก COVID-19 เป็นเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจน และยิ่งส่งผลรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเมื่อการปิดเมืองครอบคลุมช่วงเทศกาลอีสเตอร์และวันแม่ด้วย 

ความต้องการเครื่องประดับทองในยุโรปก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน กล่าวคือ ความต้องการในไตรมาสที่สองลดลงร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 8.2 ตัน ส่งผลให้ความต้องการช่วงครึ่งปีแรกนี้มาอยู่ที่ 19 ตัน ลดลงร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยตลาดอิตาลีและอังกฤษได้รับผลกระทบมากที่สุด ความต้องการเครื่องประดับทองลดลงถึงร้อยละ 45 ในไตรมาสที่สองของปีนี้

ในตลาดเอเชียความต้องการเครื่องประดับทองก็ลดลงโดยทั่วหน้ากัน ทั้งอินโดนีเซียและไทยมีความต้องการเครื่องประดับทองลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่สองและครึ่งปีแรก เนื่องจากทั้งสองตลาดต้องรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว ส่วนในญี่ปุ่นนั้น ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2.5 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในครึ่งปีแรกนี้ลดลงร้อยละ 27 เป็น 5.6 ตัน โดยมีความต้องการสร้อยทองน้ำหนักสูง ซึ่งน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนร่วมด้วย