จี้ล็อคเก็ตทองคำ ตัวแทนแห่งรักของพระราชินีนาถวิกตอเรียต่อพระสวามี

07 / 12 / 2563 13:19

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีผู้เป็นที่รักในปี 1861 ได้นำความโศกเศร้ามาสู่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงไว้ทุกข์ด้วยการฉลองพระองค์ในชุดสีดำตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ และสวมเครื่องประดับไว้ทุกข์ ซึ่งเป็นสร้อยข้อมือทองคำห้อยด้วยชาร์มและจี้ล็อคเก็ตทองคำที่ด้านในบรรจุเส้นผมและภาพของเจ้าชายอัลเบิร์ตอยู่เสมอเพื่อเป็นตัวแทนแห่งรักและระลึกถึงพระสวามีของพระองค์ 

สร้อยข้อมือทองคำห้อยด้วยชาร์มและจี้ล็อคเก็ตทองคำ จัดเป็นเครื่องประดับไว้ทุกข์ (Mourning Jewelry) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในยุคกลางหรือราว ค.ศ. 5 - ค.ศ. 15 ที่มักทำจากอัญมณีที่มีโทนดำและสีขาว เช่นเจ็ท นิล ไข่มุก รวมไปถึงเครื่องประดับลงยาต่างๆ โดยรูปแบบที่ทำขึ้นในยุคนั้นมักสื่อความหมายถึงความตาย เช่น รูปโครงกระดูก หรือไม้กางเขน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจว่าความตายนั้นเป็นสัจธรรมของชีวิต

จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ถือเป็นยุคที่เครื่องประดับไว้ทุกข์ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด โดยพระองค์ทรงเป็นผู้ปฏิวัติภาพลักษณ์เครื่องประดับไว้ทุกข์จากสัญลักษณ์แห่งความตาย มาสู่เครื่องหมายแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้เป็นที่รักซึ่งจากไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงทำให้กระแสความนิยมเครื่องประดับประเภทนี้กลับมาเฟื่องฟูในราชสำนัก อีกครั้งหนึ่ง  

จี้ล็อคเก็ตทองคำตกแต่งด้วยนิลและเพชร ด้านในบรรจุเส้นผมและภาพของเจ้าชายอัลเบิร์ต เป็นเครื่องประดับไว้ทุกข์ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงโปรดและมักทรงสวมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีสร้อยข้อมือทองคำห้อยด้วยจี้ประดับหรือชาร์ม(Charm)ที่ทำจากทองคำและบางชิ้นทำจากทองคำลงยาสีดำจำนวน 16 ชิ้น 

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีพระราชประสงค์ที่จะไม่พระราชทานเครื่องประดับทั้ง 2 ชิ้นนี้ให้เป็นสมบัติแก่ผู้ใด อีกทั้งยังมีรับสั่งให้นำเครื่องประดับไว้ทุกข์ทั้ง 2 ชิ้นนี้ ไปเก็บไว้ที่ห้องอัลเบิร์ตซึ่งเป็นห้องที่เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ ในพระราชวังวินด์เซอร์หลังจากที่พระองค์สวรรคตแล้วอีกด้วย

เครื่องประดับไว้ทุกข์ได้รับความนิยมยาวนานต่อมาอีกราว 40 ปี จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสวรรคตในปี 1901 ความนิยมในเครื่องประดับประเภทนี้ก็เริ่มเสื่อมถอยลงและค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา