สำรวจแร่ทองคำในโลก ยังเหลือมากน้อยแค่ไหน

07 / 12 / 2563 13:19

ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคา ทองคำขึ้นไปเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์  หรือราว 63,000 บาท ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (ก่อนจะลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทำให้เกิดถามว่าจะมีการขุดทองคำเพิ่มขึ้นหรือไม่ในสถานการณ์ที่ราคาเป็นแบบนี้ และทั่วโลกยังเหลือทองคำให้ขุดอีกมากน้อยแค่ไหน

ศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา(US Geological Survey  : USGS) ระบุว่าตั้งแต่มนุษย์รู้จักการใช้ทองคำจนถึงปัจจุบันมนุษย์ได้ขุดแร่ทองคำขึ้นมาแล้วกว่า 190,000 ตัน ยังคงเหลือแร่ทองคำใต้ดินที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาอีกราว 50,000 ตัน หรือยังเหลือทองคำให้ขุดอีกราว 20%  โดยสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC ) ระบุว่า เมื่อปี 2562 ปริมาณทองคำถูกขุดขึ้นมาจากเหมืองทั่วโลกที่ 3,531 ตัน น้อยกว่ายอดทองคำจากเหมืองของปีต่ำกว่าปี 2018 1% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008

ผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำบางคนบอกว่าโลกได้เลยจุดพีคหรือ peak gold หรือความสามารถในการขุดแร่ทองได้มากที่สุดในแต่ละปีแล้ว แต่สภาทองคำโลกแย้งว่าเป็นการด่วนสรุปที่เร็วไปแต่ก็มองว่าจากนี้ในแต่ละปีโลกจะผลิตทองคำได้น้อยลงเพราะว่าแร่ทองคำในแหล่งสำรองเริ่มหมดไป และไม่มีการค้นพบแหล่งทองคำใหม่ๆโดยการผลิตทองคำก็จะไม่ได้ลดลงรวดเร็วอย่างน่าตกใจ แต่จะค่อยๆลดลงในช่วง 2-3 ทศวรรษที่จะมาถึง

WGC อธิบายเพิ่มเติมว่า แหล่งสำรอง คือ แหล่งที่มีแร่ทองคำในในปริมาณที่คุ้มทุนหากจะทำเหมืองแร่เมื่อพิจารณาราคาทองคำในปัจจุบัน ส่วนแหล่งทรัพยากร คือแร่ทองคำในที่ๆอาจจะคุ้มทุนที่จะทำเหมืองแร่เมื่อมีการสำรวจเพิ่มหรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data)หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยลดกระบวนการผลิตและลดต้นทุนการทำเหมืองแร่ทองได้ หรือราคาทองคำสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีแร่ทองคำซ่อนอยู่ในพื้นที่ๆการสำรวจยังเข้าไปไม่ถึง เช่นขั้วโลกใต้หรือใต้พื้นมหาสมุทรก็เป็นได้ 
ทั้งนี้แหล่งทองคำเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ลุ่มน้ำวิทวอเทอร์สแลนด์ ใกล้เมืองโยฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ คิดเป็นประมาณ 30% ของปริมาณทองคำรวมที่ขุดได้จากเหมืองทองทั่วโลกส่วนแหล่งทองคำขนาดใหญ่อื่นๆ รองลงมาคือ เหมืองเอ็มโปเน็ง ในแอฟริกาใต้ เหมืองซูเปอร์ พิท และนิวมองต์ บ็อดดิงตัน ในออสเตรเลีย เมืองแกรสเบอร์ก ในอินโดนีเซีย และเหมืองอีกหลายแห่งที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศที่มีการทำเหมืองทองรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ ตามด้วย แคนาดา รัสเซียและเปรู ส่วนบริษัททองคำรายใหญ่ของโลกคือ บริษัทแบร์ริค โกลด์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเหมืองทองเนวาดา ที่สามารถผลิตทองคำได้ปีละประมาณ 3.5 ล้านออนซ์ อย่างไรก็ตามยังมีเหมืองทองใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่แหล่งทองคำปริมาณมากๆเริ่มหายากขึ้นทุกที ทองคำส่วนใหญ่ของโลกที่ขุดได้ในปัจจุบันจึงมาจากเหมืองทองเก่าอายุใช้งานนับสิบๆปีแล้วนั่นเอง

สำหรับในปี 2563 นี้มีรายงานจากสภาทองคำโลก ระบุว่าการผลิตทองคำทั่วโลกในไตรมาสแรกนั้นตกลงไป 3%  หากเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดที่ยังไม่ดีขึ้นก็มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขยอดการผลิตในไตรมาสที่สองนี้จะลดลงไปกว่าเดิม