เปิดรายจ่าย ร้านทองตู้แดง ในภาวะราคาทองผันผวน (ตอนที่ 2)

07 / 12 / 2563 13:22

เปิด 7 ค่าใช้จ่ายของร้านทองตู้แดง (ต่อ)

4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น

5. ดอกเบี้ยจ่าย ที่เกิดจากการที่กิจการร้านทองกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่สินเชื่อธุรกิจประเภทนี้มักจะกำหนดคุณสมบัติ อย่างเช่น ประสบการณ์ในการทำธุรกิจหรือก่อตั้งกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมบางแห่งคิดตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ตามประกาศของแต่ละธนาคาร

6. ภาษีอากรของธุรกิจร้านทอง มีทั้งภาษีเงินได้ ซึ่งแยกเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวนจากรายได้ที่ได้จากการขายทองคำเป็นเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร หรือเงินพึงได้ตลอดปีภาษี ซึ่งจะมีวิธีการหักค่าใช้จ่าย 2 วิธี คือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาร้อยละ 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ขณะที่ด้านนิติบุคคลจะคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งหากมีผลขาดทุนสุทธิทางภาษี ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
นอกจากนี้ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการที่ร้านทองที่มีเงินได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งการนับมูลค่าฐานภาษีจากการขายทองเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องนับเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับ ไม่ใช่นับจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จ เนื่องจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น

7. การทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ซึ่งกิจการร้านทองบุคคลธรรมดาต้องจัดทำบัญชี แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
1) กรณีผู้ประกอบการกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายเป็นประจำวัน โดยต้องลงรายการในบัญชีรายได้และรายจ่ายภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีรายได้หรือรายจ่าย
2) กรณีผู้ประกอบกิจการที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นอกจากต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่ายแล้ว ยังต้องทำบัญชีรายรับ-จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลเพื่อแสดงยอดเงินคงเหลือยกมา โดยจำนวนเงินของยอดรายได้และรายจ่ายที่ได้มีการรับมาและจ่ายไปในระหว่างปีภาษีและยอดเงินคงเหลือยกไปเพื่อยื่นพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 
ของ ทุกปีภาษี

ทั้งหมดนี้คือรายจ่ายที่ต้องแบกรับของร้านทองตู้แดง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์