ข้อตกลง RCEP กับโอกาสของตลาดเครื่องประดับไทย

07 / 12 / 2563 13:24

การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership:)นับเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จและก้าวสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้ง 5 ประเทศคู่เจรจาอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่มีความพยายามเจรจากันมาอย่างยาวนานถึง 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2555 ลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563)
     
RCEP เป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยประชากรประเทศสมาชิกกว่า 2.2 พันล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก มีขนาด GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก ซึ่ง RCEP เป็นข้อตกลงทางการค้าที่พัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+3 และ ASEAN+6 ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ AEC Blueprint ความตกลง RCEP ทั้ง 20 บทนั้น จะเป็นการขยายและต่อยอดจากข้อตกลง FTA ของประเทศในอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้มาอยู่ภายใต้ข้อตกลงเดียวกัน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน ขยายการเปิดเสรีด้านสินค้า บริการ และการลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความซ้ำซ้อนและความแตกต่างในข้อตกลง FTA ที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลายประเทศในข้อตกลง RCEP นี้ หวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลับมาเติบโตได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง RCEP นั้น มี 5 หมวด ดังต่อไปนี้
1. หมวดสินค้าเกษตร: แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง
2. หมวดอาหาร: ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว อาหารแปรรูปอื่นๆ
3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม: อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์
4. หมวดบริการ: ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชั่น
5. หมวดค้าปลีก

ทั้งนี้คาดการณ์จะมีการลงนามสัตยาบรรณและเริ่มมีผลบังคับใช้ได้กลางปี 2564 อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้อินเดียซึ่งเป็นสมาชิกดั้งเดิมที่ครั้งนี้ถออนตัวออกไปได้กลับเข้ามาร่วมได้ ส่วนสาเหตุที่อินเดียถอนตัวออกไปเนื่องจากกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าที่มาจากจีนหากเปิดการค้าเสรี 
สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับกลุ่ม RCEP พบว่า 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 5,423.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.62% โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทอง จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในการรุกเข้าตลาดนี้ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้สินค้ามีมาตรฐานสอดคล้องกับความตกลงดังกล่าวก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า RCEP จะกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น