อัญมณีและเครื่องประดับไทยมีผลกระทบอย่างไรเมื่อสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP

07 / 12 / 2563 13:24

สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือGSP สำหรับสินค้าไทยรวมกว่า 200 รายการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา  โดยสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ได้แก่ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม อาหารอบแห้ง หอยบางชนิด และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท รวมถึงอัญมณี 1รายการ คือ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนซึ่งไม่ได้ใช้ในการผลิต ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่ร้อยละ 10.5 ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าส่งออก 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,000 ล้านบาท

การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อย้อนกลับไปราวปี 2550 ไทยได้ถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP พิกัด 7113.19.50 เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม และต่อมาในปี 2555 สหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิ GSP ของไทยพิกัดสินค้า 7113.11.50 เครื่องประดับเงินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าโหล/ชิ้นละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 สหรัฐฯ ก็ได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจำนวน 22 รายการย่อยใน 4 สินค้าหลักได้แก่ พิกัด 7113 เครื่องประดับแท้ พิกัด 7114 เครื่องทองหรือเครื่องเงิน พิกัด 7116 ของทำด้วยไข่มุก และรัตนชาติ รวมถึงพิกัด 7117 เครื่องประดับเทียม ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้วปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 2.7- 13.5

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP ไปหลายรายการ แต่ก็ยังมีสินค้าที่ไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ และมีอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 อีกหลายรายการ
        
ย้อนไปในปี 2562 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในอันดับที่ 4 (รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์) ด้วยมูลค่าราว 1,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ ซึ่งการตัเสิทธิ์พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนของไทยในตลาดสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมทั้งหมด ดั้งนั้นการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยมากนัก 

ทั้งนี้อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ แม้คู่แข่งสำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดียจะได้เปรียบสินค้าไทยที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ทำให้โอกาสที่สินค้าไทยจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทำได้ยาก แต่หากเจาะตลาดระดับกลางขึ้นไป ที่ไม่แข่งขันด้านราคาเน้นคุณภาพสินค้า  ประสิทธิภาพในการผลิตและออกแบบสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ก็สามารถเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้อีกมาก

ข้อมูล :สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์กรมหาชน)