ใบไม้สีทอง หนึ่งเดียวในโลกที่ 3 จังหวัดชาแดนใต้

07 / 12 / 2563 13:29

ที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่พบได้ที่นี่แห่งเดียวในโลก เรียกว่า ใบไม้สีทอง (Golden leaf bauhinia) มีชื่อท้องถิ่นภาษายาวีว่า ย่านดาโอ๊ะ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Bauhinia aureifolia ซึ่งตั้งชื่อโดยศาสตราจารย์ ไค ลาร์เสน (Dr. Kai Larsen) นักพฤษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก เมื่อปีพ.ศ. 2532 ใบไม้สีทองเป็นพืชในสกุลเดียวกับชงโคจึงมีใบที่มีปลายแยกออกจากกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพืชในสกุล Bauhinia

ใบไม้สีทองพบครั้งแรกในโลกที่บริเวณน้ำตกปาโจ อุทยานแห่งชาติบูโด–สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2531เป็นพืชที่ชอบความชื้นในดินและอากาศสูง จึงมักพบเห็นได้ตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบชื้นของอุทยานแห่งชาติน้ำตกบาโจและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ระดับความสูง 50-200 เมตร

ใบไม้สีทอง เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่มีมือเกาะม้วนงอเป็นตะขอคู่ เลื้อยขึ้นไป
คลุมตามเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะเด่นตรงที่มีใบสีทองและผิวใบนุ่มเนียนเหมือนกำมะหยี่
ใบมีสองชนิด คือกลุ่มใบสีเขียวทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร และกลุ่มใบสีทองซึ่งมีน้อยกว่า
ขณะเป็นใบอ่อนจะมีสีชมพู บางครั้งเรียกสีนากใช้เวลา 2 สัปดาห์ใบจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีทองแดงหรือสีทองและระยะสุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นสีเงินแล้วจึงทิ้งใบ 

ระยะที่จะเห็นใบเป็นสีทองชัดเจนคือในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ของทุกปี ต้นที่จะปรากฏใบสีทองต้องมีอายุมากกว่า 5 ปี และจะออกดอกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือน ตุลาคม – กุมภาพันธ์

ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปช้อน ขอบกลีบย่น ลักษณะคล้ายดอกเสี้ยว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีตั้งแต่ 10 ดอกขึ้นไปมีเกสรตัวผู้และตัวเมียยื่นออกมา เป็นดอกสมบูรณ์ ทยอยบานไม่พร้อมกัน ในช่วงนี้ใบไม้ชุดที่เติบโตมาพร้อมช่อดอกจะเปลี่ยนเป็นสีทองเปล่งประกายสมชื่อ "ใบไม้สีทอง"

ผล เป็นฝักแบนคล้ายฝักดาบ ยาว 23 ซม. กว้าง 6 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก เมล็ดแพร่กระจายไปได้ไกล หนึ่งฝักมีประมาณ 4-6 เมล็ด พบเห็นไดทั่วไปในผืนป่าบูโด และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแห่งบูโด-สุไหงปาดี