‘ทองตำตัว’ ทุเรียนชื่อแปลก ของดีเมืองพังงา

14 / 01 / 2564 14:11

ที่จังหวัดพังงา มีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับการยอมรับว่ารสชาติดีไม่แพ้ใครชื่อว่า “ทองตำตัว” นอกจากรสชาติดีแล้วยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด เม็ดลีบ เปลือกบาง ผลดกและหากินยาก ปีหนึ่งจะได้กินกันแค่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคมเท่านั้น และเนื่องจากมีผลผลิตไม่มากจึงเป็นที่ต้องการของนักชิม เรียกว่าต้องยืนรอใต้ต้นกันเลยทีเดียว

ทุเรียนชื่อแปลกนี้ มีที่มาจากลักษณะพิเศษของเนื้อทุเรียนที่มีสีทองสุกอร่าม เอามาผสมกับชื่อตำบลที่ปลูกทุเรียนพันธุ์นี้ คือ ต.ตำตัว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงกลายมาเป็นชื่อ “ทองตำตัว” ซึ่งปัจจุบันมีคนปลูกกันไม่มาก ที่มีชื่อเสียงก็คือที่สวนของลุงบุญชู ตั้งทรัพย์ วัย 78 ปีเจ้าของสวนทุเรียน ใน จ.พังงา ซึ่งก็มีทุเรียนพันธุ์นี้แค่ 3 ต้น ต้นหนึ่งมีอายุมากถึง 30 ปี ในแต่ละปีให้ผลผลิตราวต้นละ 600 ผลเท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้การจะเป็นเจ้าของทุเรียนทองตำตัว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเจ้าของสวนเขาไม่รับจองและไม่ตัดขาย ใครอยากได้ไปรับประทานต้องไปยืนเฝ้าใต้ต้นรอให้ผลทุเรียนร่วงลงมาเองจึงจะได้กิน ส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อไปเป็นของขวัญของฝากเจ้านายหรือญาติผู้ใหญ่มากกว่ากินเอง อีกทั้งทุเรียน“ทองตำตัว” ยังได้รางวัลชนะเลิศทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านในงานเกษตรแฟร์ จ.พังงา ยิ่งทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นจนผลผลิตไม่พอขาย แต่ถึงกระนั้นเจ้าของสวนก็ไม่ได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาแต่อย่างใด ยังขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-180 บาทเท่านั้น

ลุงบุญชูเล่าว่า ที่ไม่อยากรับจองเพราะไม่รู้ว่าผลผลิตแต่ละปีจะมากน้อยแค่ไหน และการส่งทุเรียนให้ลูกค้าก็ไม่สะดวก ฃ เพราะเป็นผลไม้ที่มีกลิ่น บางคนอาจไม่ชอบ สู้ให้คนซื้อมารอที่หน้าสวนเลยจะดีกว่า ซึ่งเมื่อก่อนก่อนที่ทุเรียนพันธุ์นี้จะชนะเลิศพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านในงานเกษตรพ่อค้าแม่ค้ามักมาขอซื้อที่หน้าสวนไปหมดจนชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ค่อยได้กิน จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีให้มายืนรอใต้ต้นถ้าจังหวะพอดีกับที่ทุเรียนร่วงก็ได้กิน  เพราะเขาปล่อยให้ร่วงเองตามธรรมชาติ ดังนั้นการจะได้กินทุเรียน”ทองตำตัว”อาจต้องรอข้ามปีกันเลยทีเดียว