ราคาทอง ปัจจัยสำคัญของการ เพิ่ม-ลด การถือครองทองคำ

14 / 01 / 2564 14:12

ราคาทองคำในตลาดโลก เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเพิ่มการถือครองหรือเทขายทองคำที่มีอยู่ในครอบครองของกองทุนกองทุน ETF ทองคำ และธนาคารกลางทั่วโลก

จากการรายงานของสภาทองคำโลก (WGC) พบการเคลื่อนไหวของกองทุน ETF ที่ลงทุนในทองคำทั่วโลก ในเดือนพฤศจิกายนว่า มีการถือครองทองคำและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงลดลง 107 ตัน ส่งผลให้เป็นเดือนที่มีทองคำไหลออกสุทธิครั้งแรกในปีนี้

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ กองทุน ETF ทองคำได้ซื้อทองคำสุทธิ 916 ตัน ส่งผลให้ยอดการถือครองทองคำรวมทั่วโลกอยู่ที่ 3,793 ตัน หรือประมาณ 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า กองทุน ETF ทองคำในอเมริกาเหนือมีทองคำไหลออก 62.3 ตัน ส่วนกองทุน ETF ทองคำ ในยุโรปมีทองคำไหลออก 42.4 ตัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำและผลิตภัณฑ์อื่นที่ใกล้เคียง ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในตลาดทองคำนับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวเมื่อปี 2546 และได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและภาคสถาบัน

ก่อนหน้านั้นในช่วงไตรมาสที่3 ของปี2563 ช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด สภาทองคำโลก (WGC) ได้รายงานว่า ธนาคารกลางทั่วโลกขายทองคำเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศผู้ผลิตทองคำที่ใช้โอกาสในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เทขายทองคำเพื่อระดมเงินสดไว้ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกขายทองคำรวมกันทั้งสิ้น 12.1 ตันในไตรมาส 3/2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำในปริมาณ 141.9 ตัน โดยธนาคารกลางอุซเบกิสถานและตุรกีนำทองคำออกมาขายมากที่สุด ที่ 34.9 ตันและ 22.3 ตัน ตามลำดับ