พระปั้นเหน่งนพเก้า

11 / 02 / 2564 13:48

“พระปั้นเหน่งนพเก้า” เป็นหนึ่งในเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่ตกทอดมาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอันเป็นพระราชมรดกตกทอดของพระราชวงศ์จักรี สู่สมเด็จพระบรมราชินีองค์ปัจจุบัน

พระปั้นเหน่งนพเก้าที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพร้อมกับฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐  เป็นตรานพรัตนและพันธุ์พฤกษา ล้อมด้วยลายสังวาลนพรัตน พร้อมรัดพระองค์ทองคำประดับเพชร ซึ่งประกอบด้วยเพชรเม็ดใหญ่และพลอยสำคัญอีก 8 ชนิด ได้แก่ ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ เพชรพลอยทั้ง 9 ชนิดนี้เรียกว่า "นพรัตน์" สมบัติตกทอดของราชวงศ์ที่ประเมินค่ามิได้

ความเชื่อตามโบราณราชประเพณี “นพรัตน์” นั้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของดาวนพเคราะห์ ถือเป็นของสูง เป็นสิริมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของ ใครมีไว้ก็ล้วนแต่เจริญรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง เลิศด้วยความดีงามทั้งปวง สมัยโบราณมีแต่เจ้านายชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้สวมใส่

นอกจากพระปั้นเหน่งนพเก้าแล้ว ยังมีพระปั้นเหน่งอีกหลายองค์ ที่เป็นมรดกตกทองมาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสมบัติตกทอดของราชวงศ์ที่ประเมินค่ามิได้ได้แก่พระปั้นเหน่ง ฝังเพชรลูกขนาดใหญ่ ๙ เม็ด พร้อมรัดพระองค์ทองคำฝังเพชร ๒ เม็ดรวมเพชรเม็ดใหญ่ ๑๑ เม็ด พระปั้นเหน่งทับทิมล้อมเพชร ระปั้นเหน่งมหาจักรีประดับเพชร เป็นต้น

อนึ่ง เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ มาขจากคำว่า“ถนิม” หรือ “สนิม” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่าเครื่องประดับส่วน พิมพาภรณ์ มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤตสองคำ คือ พิมพ์ แปลว่า รูป รูปร่าง แบบ และคำว่า อาภรณ์ แปลว่า เครื่องประดับ ถนิมพิมพาภรณ์ หรือ สนิมพิมพ์พาภรณ์ จึงหมายถึง เครื่องประดับตกแต่งร่างกายดังที่ระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต  ว่าเป็นเครื่องประดับโบราณที่แสดงถึงทักษะทางฝีมืออันประณีตวิจิตรของช่างไทยอีกแขนงหนึ่งที่สืบทอดต่อมาเป็นสมบัติทางศิลปะอันล้ำค่าของไทย

เครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือถนิมพิมพาภรณ์ที่ปรากฏจากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมในผืนแผ่นดินไทยเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอดีต