เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องประดับทรงคุณค่าแห่งราชวงศ์จักรี

11 / 02 / 2564 13:48

เครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ที่ปรากฏจากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมในผืนแผ่นดินไทยเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของราชอาณาจักรสยาม จนชาวต่างชาติกังขาว่า ประเทศเล็กๆในเอเซีย ร่ำรวยขนาดที่พระราชินีจะทรงใช้เงินฟุ่มเฟือยซื้อเครื่องเพชรแบบราคาแพงได้หรือ ดังปรากฏความในพระราชนิพนธ์บันทึกเกี่ยวกับเครื่องประดับที่ทรงในงานสำคัญต่างๆไว้ว่า ในการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอย่างเป็นทางการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระบรมราชชนีพันปีหลวง เมื่อปีพุทธศักราช๒๕๑๐ ได้แขกคนสำคัญคนหนึ่งในงานกล่าวถาม ม.จ.วิภาวดี รังสิต นางสนองพระโอษฐ์ ว่า“สร้อยพระศอที่พระราชินีของท่านทรงอยู่นั้น คงเพิ่งซื้อใหม่จากปารีสละมัง” หม่อมเจ้าวิภาวดีทรงตอบว่า “นี่ท่านไม่รู้หรอกหรือว่า เมืองไทยของเรามีอายุกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปีแล้ว

เครื่องถนิมพิมพาภรณ์จึงมีคุณค่ามากกว่าความงดงามทางศิลปะ และมูลค่าที่มิอาจประเมินได้เพราะแสดงถึงอารยธรรมและความรุ่งเรื่องของชนชาติไทย และมีเครื่องประดับหลายชิ้นที่ตกทอดจากพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาจนถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี โดยมีองค์สำคัญๆที่เคยเห็นผ่านตากันไปแล้วได้แก่

พระนพรูปหงส์คาบหยาดเพชร หรือเข็มกลัดหงส์เพชร ทรงนำมาประดับพระอังสา(ไหล่)ร่วมกับฉลองพระองค์ชุดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีทรงประดับเข็มกลัดนี้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระปั้นเหน่งทับทิมล้อมเพชร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระปั้นเหน่งองค์นี้ในการพระราพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระปั้นเหน่งเพชร ฝังเพชรเม็ดใหญ่ ๙ เม็ด พร้อมรัดพระองค์ทองคำประดับเพชรเม็ดใหญ่ ๒ เม็ด สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงพระปั้นเหน่งองค์นี้ในพระราชพิธีออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในการพระราพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
.
พระปั้นเหน่งดารานพรัตน์หรือพระปั้นเหน่งนพเก้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯทรงพระปั้นเหน่งองค์นี้ในพระราชพิธีสำคัญ ๓ ครั้งคือ ครั้งแรกในการพระราพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ครั้งต่อมาในการพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และครั้งล่าสุดในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมาคร ในการพระราพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่  ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒