ระวัง!!! กินทองคำเปลววิทยาศาสตร์ อันตรายโดยไม่รู้ตัว

05 / 03 / 2564 14:48

มีอาหารหลายประเภทนิยมนำทองคำและทองคำเปลวมาตกแต่งหรือนำมาเป็นส่วนประกอบด้วยเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายหรือเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารนั้นๆ จนผู้เชี่ยวชาญต้องออกมาเตือนว่าอาจทำให้เป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะทองคำเปลวที่นำมาใช้นั้นเป็นเพียงทองคำเปลววิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถบริโภคได้

เรื่องนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT แนะผู้บริโภคที่ชอบรับประทานอาหาร Luxury ประดับทองคำเปลว ต้องตรวจสอบให้ดีหลังพบมีการใช้"ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" ซึ่งไม่ใช่ทองคำบริสุทธิ์ เพื่อลดต้นทุนและสามารถขายได้ในราคาที่ถูกลง บางครั้งยังพบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

ทองคำเปลว ที่เป็นของแท้ ผลิตด้วยช่างฝีมือตีจนทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์ 95.00-99.99 % จนเป็นแผ่นบางๆ ปัจจุบันทำได้ยากและมีต้นทุนในการผลิตที่สูง ในทางกลับกันการผลิต "ทองคำเปลววิทยาศาสตร์" ซึ่งไม่ได้มีการใช้ทองคำแท้มาตีให้เป็นแผ่นบาง แต่จะใช้สารประกอบจำพวกไฮโดรคาร์บอนและธาตุโลหะหนักอื่นๆ มาแต่งสี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับทองคำเปลวแท้จนแยกไม่ออก

ซึ่งการใช้ทองคำเปลววิทยาศาสตร์ หากนำไปใช้เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือ อุตสาหกรรมความงาม อาจทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากว่า ทองคำบริสุทธิ์(AU) สามารถรับประทานได้ ร่างกายไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และ ขับถ่ายออกมาตามปกติ แต่หากเป็น ทองคำวิทยาเปลววิทยาศาสตร์อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้ เพราะมีโลหะหนักผสมอยู่ และอาจจะสะสมและเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ได้ ทำให้เกิดโรคพิษโลหะหนักตามมาหากได้รับในปริมาณที่มากและสะสมมาเป็นระยะเวลานาน

หากสงสัยว่าอาหารชนิดใดมีส่วนประกอบของทองคำเปลวแท้หรือทองคำเปลววิทยาศาสตร์ สามารถมาตรวจสอบกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติได้ ซึ่งผู้บริโภค หรือผู้ผลิตจะได้มีความมั่นใจ และสามารถนำไปประกอบเป็นสารสำคัญในสินค้าของตนเองได้ต่อไป นอกจากนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสถาบันได้ 

ข้อมูล :สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ