ช่างหรีด ผู้สืบสานตำนานหวนกลแห่งเมืองจันท์

12 / 05 / 2564 16:15

ช่างหรีด มีชื่อจริงว่า ชูเกียรติ เนียมทอง เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของช่างทำแหวนกลในจันทบุรี เริ่มต้นฝึกฝนการทำแหวนกลมาตั้งแต่เด็ก อาศัยการถ่ายทอดวิชาจากครูสายัณห์ ภูมิศักดิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าเขย เริ่มจากการเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือช่างประเภทต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาทำแหวนเรียบ แหวนปลอกมีด ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยช่าง ใช้เวลาฝึกฝนและจดจำเทคนิคนานนับสิบปีจึงสามารถผลิตแหวนกลชิ้นแรกของตนเองได้

แหวนกลเมืองจันท์มีอัตลักษณ์ที่บริเวณหัวแหวน ซึ่งประกอบขึ้นจากแหวนวงเล็กๆ ตั้งแต่ 4 วงขึ้นไปนำมาซ้อนไขว้เรียงกันจากเทคนิคและฝีมือช่าง จนออกมาเป็นตัวเรือนแหวนที่มีความสมบูรณ์ โดยรูปแบบของหัวแหวนมักได้แรงบันดาลใจมจากธรรมชาติ เช่น ลายปูทะเล ลายปลา และลายกุ้ง ซึ่งต่อมามีการพัฒนาลวดลายเพิ่มขึ้นตามยุคสมัยเช่น ลายดอกไม้ แมงป่อง ราชสีห์ เต่า และกระต่าย เป็นต้นและช่างหรีดจึงได้หันมาผลิตแหวนกลโดยใช้เงินเป็นวัตถุดิบหลัก แทนที่การใช้ทองคำเหมือนอย่างในอดีต  เพื่อต้องการให้แหวนกลเมืองจันท์เข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

นอกจากลวดลายดั้งเดิมแล้ว ยังมีการนำความเชื่อทางด้านโชคลางและความศรัทธามาประยุกต์เป็นลายของหัวแหวนด้วย เช่น ลวดลายสิบสองนักษัตร ลายพญานาค  และต่อยอดชิ้นงานให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นโดยการออกแบบให้เป็นชื่อ หรือนามสกุล มีการตกแต่งด้วยพลอยหรืออัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างความโดดเด่นให้แก่ชิ้นงาน รวมถึงการต่อยอดทำเป็นกำไลกลเมืองจันท์ ในรูปแบบของกำไลนพเก้า กำไลลายพญานาค เป็นต้น 

ปัจจุบันช่างหรีดยังคงรับผลิตแหวนกลเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงครอบครัว โดยสามารถผลิตชิ้นงานได้ 2 - 3 ชิ้นต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน  แหวนกลเมืองจันท์ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงดงามของงานหัตถศิลป์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการและภูมิปัญญาที่ควรอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป