สำรวจสมบัติเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

12 / 05 / 2564 16:23

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถือได้ว่าการค้าระหว่างประเทศรุ่งเรืองถึงขีดสุด ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของชาวต่างชาติที่ชื่อว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยรุศรีอยุธยา และเป็นที่วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์จนได้อวยยศเป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตำแหน่งเจ้าพระคลัง (ในปัจจุบันคือตำแหน่งรัฐมนตรีการว่าการกระทรวงคลัง) มีหน้าที่ดูแลการค้าทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญคือการดูแลท้องพระคลังของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ฟอลคอนมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือใครเพียงแค่ 10 ปีเศษที่เข้ามารับราชการ ก็สามารถกอบโกยทรัพย์สมบัติและแก้วแหวนเงินทองไว้มากมาย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างฟุ่มเฟือยในคฤหาสน์ใหญ่โต ที่มีโบสถ์คาทอลิกอยู่ในเขตที่พัก มีชีวิตเฉกเช่นขุนนางชั้นสูงหรือเจ้านายในยุโรปมีทหารฝรั่งเศสคอยรับใช้ 20 นาย มีเลขานุการเป็นชาวอังกฤษ อาหารแต่ละมื้อเตรียมไว้อย่างดีสำหรับแขกเหรื่อไม่น้อยกว่า 40 คนทุกวัน

ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานแน่ชัดว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีเงินทองและทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหนจากค่าคอมมิชชั่นและของกำนัลจากท้องพระคลังหลวง แต่พอจะมีหลักฐานชี้ว่าเมื่อพระเพทราชายึดอำนาจจากขุนหลวงนารายณ์ได้แล้ว มีการจับฟอลคอนไปประหารชีวิตคฤหาสน์ของเขาโดนยึด โดนรื้อค้น สมบัติมากมายถูกลักขโมยไป บางส่วนนางมารี กลีมาร์ ภรรยาของเขาขนออกไปจากคฤหาสน์ โดยแบ่งเครื่องเพชร เครื่องทองและทรัพย์สินออกเป็น 3 ลัง นำไปฝากไว้กับบาทหลวงเยซูอิต 2 ลัง ส่วนอีกลังมอบให้นายร้อยทหารฝรั่งเศส แต่บาทหลวงเกิดความกลัวจึงฝากลังสมบัติไปกับนายพันโบชองส์เอาไปเก็บไว้ที่ป้อมที่บางกอกส่วนอีกลังที่อยู่กับนายร้อยก็นำลงไปที่ป้อมที่บางกอกเช่นกัน

สุดท้ายมีการคืนสมบัติฟอลคอนให้กับออกญาโกษาธิบดี แต่ทรัพย์สินที่คืนไปนั้น มีแค่หนึ่งในสามเท่านั้นทรัพย์สมบัติอีก 1 ใน 3 ถูกนายพลเดส์ฟาร์จ ผู้บัญชาการกองกำลังฝรั่งเศสนำออกนอกประเทศ แต่ต่อมาท่านนายพลเกิดเสียชีวิตระหว่างทาง และกองกำลังฝรั่งเศสถูกพวกฮอลันดาจับกุม พร้อมกับยึดสมบัติฟอลคอน แล้วทรัพย์สมบัติส่วนนั้นก็หายสาบสูญไป

จากหลักฐานใหม่ระบุว่า มีทรัพย์สมบัติส่วนน้อยที่ยังตกค้างอยู่ที่ลพบุรี หลังจากนั้นอีกเกือบ 300 ปี มีชาวลพบุรีขุดพบสมบัติบางส่วนที่ข้างพระเจดีย์ในกำแพงวัดพระมหาธาตุ หลังสถานีรถไฟลพบุรี โดยสมบัตินั้นถูกฝั่งอยู่ลึกประมาณ 1 ศอกเศษแล้วนำไปถวายกรมพระนครสวรรค์วรพินิต แล้วพระองค์ประทานต่อไปยังกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติประกอบด้วยศาสนาวัตถุ 5 ชิ้น คือ  ถ้วยกาลิศ เงิน กาไหล่ ทอง สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14, ภาชนะเงิน รูปสำเภาจีน,เชิงเทียนเงิน 1 คู่, ฐานทองเหลืองลายกลีบบัว ฝีมือข่างของสมเด็จพระนารายณ์
ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยว่า เครื่องบูชานั้นคงอยู่ในวิหารคริสตังที่ลพบุรี
2. คงเอาฝังซ่อนไว้ในที่ลับ จึงมีการนำไปฝังไว้ที่วัดมหาธาตุ และสิ่งของเหล่านั้นฝั่งดินไว้เกือบ 300 ปี แต่ยังมีสภาพดี ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเอาใส่ตุ่มดินเผาปิดฝาแล้วฝังไว้ และน่าจะมีเครื่องเงิน เพชร ทอง อีกมากมายฝั่งลงไว้ในตุ่มเช่นกัน

อนึ่งคอนสแตนติน ฟอลคอน เกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ) โดยมีเชื้อสายกรีก-เวนิส ทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ พ.ศ. 2218 เดินทางมายังอยุธยาในฐานะพ่อค้า เนื่องจากมีความสามารถพิเศษสามารถพูได้หลายภาษา ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ มลยู จึงเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา