พระแสงราชศัสตรา สัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่กษัตริย์มอบให้เจ้าผู้ครองนคร

12 / 05 / 2564 16:24

พระแสงราชศัสตรา หรือเรียกอีกอย่างว่า พระแสงราชาวุธเป็นดาบที่ทำด้วยทองคำหรือวัสดุอื่นที่พระมหากษัตริย์มอบให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อให้บุคคลผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์บุคคลผู้ที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจราชสิทธิ์ มีอำนาจเต็มในการออกคำสั่งได้ทุกเรื่องสามารถตัดสินพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นสูงสุด คือสั่งประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริที่จะให้ผู้ว่าราชการมณฑลและเจ้าเมืองทั้งหลายที่ทรงแต่งตั้งออกไปบริหารราชการและดูแลทุกข์สุกของราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสะดวก และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วโดยไม่ต้องกราบทูลหรือรายงานมายังส่วนกลางก่อนจึงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ไว้ประจำมณฑลและเมืองต่างๆ เป็นเครื่องหมายพระราชอำนาจของพระองค์ในการปกครองแผ่นดินดัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ“พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ” ตอนหนึ่งว่า

“...จึงโปรดฯให้สร้างพระแสงราชาวุธขึ้นสำหรับพระราชทานไว้ประจำจังหวัดละองค์ จังหวัดอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลเป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทองลงยาราชาวดีจังหวัดนอกนั้นเป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทอง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนก็พระราชทานพระแสงสำหรับจังหวัดนั้น และมีพระราชกำหนดว่า ถ้าเสด็จไปประทับในจังหวัดใด เมื่อใดให้ถวายพระแสงราชาวุธสำหรับจังหวัดมาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้นอย่างหนึ่ง และให้ชุบน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยพระแสงนั้นด้วยอย่างหนึ่ง...”

การพระราชทานพระแสงราชศัสตรานี้ไม่ได้ทำพร้อมกันทุกจังหวัด แต่เมื่อเสด็จไปจังหวัดใดจึงพระราชทานให้เป็นรายๆไปและเมื่อพระองค์เสด็จไปประทับอีก ก็ต้องถวายคืนชั่วระยะที่พระองค์ประทับอยู่และจะพระราชทานคืนให้เมื่อเสด็จกลับ

ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรานี้ให้กับ ๑๓ เมือง คือ ๑.มณฑลกรุงเก่า ๒.เมืองอ่างทอง๓.เมืองสิงห์บุรี ๔.เมืองชัยนาท ๕. เมืองอุทัยธานี ๖.มณฑลนครสวรรค์ ๗.เมืองพิจิตร ๘.มณฑลพิษณุโลก๙.เมืองพิชัย ๑๐.เมืองกำแพงเพชร ๑๑.เมืองตราด ๑๒.มณฑลจันทบุรี ๑๓.มณฑลปราจีนบุรี

ในสมัยรัชกาลที่๖ ได้พระราชทานอีก ๑๓ เมือง คือ ๑.มณฑลราชบุรี ๒. เมืองเพชรบุรี ๓.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ๔.มณฑลปัตตานี ๕.เมืองสายบุรี ๖.เมืองนราธิวาส ๗.มณฑลนครศรีธรรมราช ๘.เมืองตรัง๙.เมืองนครศรีธรรมราช ๑๐.มณฑลชุมพร ๑๑.เมืองระนอง ๑๒.มณฑลภูเก็ต ๑๓.มณฑลนครชัยศรี

ส่วนสมัยรัชกาลที่ ๗ พระราชทานเพียง ๖ เมือง คือ ๑.เมืองลำปาง ๒.เมืองแพร่ ๓.เมืองเชียงราย๔.เมืองเชียงใหม่ ๕.เมืองลำพูน ๖.เมืองพังงา ต่อมามีการยุบเมืองพิชัยรวมเข้ากับเมืองอุตรดิตถ์ และยุบเมืองสายบุรีเข้ากับเมืองปัตตานี จึงได้ถวายคืน

ลักษณะของพระแสงราชศัสตราประจำเมือง มีความคล้ายคลึงกันทุกรัชกาลคือเป็นดาบไทยยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ มีคำจารึกที่ใบดาบ“พระแสงสำหรับมณฑล...”และ“พระแสงสำหรับเมือง...”ส่วนในรัชกาลที่ ๗ ไม่มีจารึก ที่ฝักพระแสงสลักลวดลายที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตและภูมิประเทศของเมืองนั้นๆ เช่นฝักพระแสงของหัวเมืองภาคเหนือ จะเป็นป่า เขา ช้าง และสัตว์ป่านานาชนิด ฝักพระแสงทางภาคใต้จะเป็นทะเล เรือ และสัตว์น้ำ ส่วนภาคกลางจะเป็นบ้านเรือน ทะเลและป่ากำแพงเมืองและป้อม ปืนใหญ่ เป็นต้น

ในจำนวนนี้ พระแสงของเมืองกำแพงเพชรนับว่าพิเศษกว่าทุกเมืองเพราะสร้างมาตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่๑ ในขณะที่พระแสงดาบประจำเมืองของจังหวัดอื่นๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาทั้งสิ้น

ข้อมูล : MGR ONLINE