ดาบทองคำสลักรูปนกอินทรีและช้าง ปฐมบทสัมพันธภาพไทย-สหรัฐ

12 / 05 / 2564 16:25

ราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา มีการติดต่อกันครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เมื่อสตีเฟน วิลเลียมส์ กัปตันเรือชาวอเมริกันนำเรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๑  แต่ความสัมพันธ์กระชับแน่นขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการทำสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างกันและการถวายดาบฝักทองคำจากประธานาธิบดีสหรัฐแด่รัชกาลที่๓ ในในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๖

ประธานาธิบดีแอนดรูว์  แจ็กสันส่งนายเอ็ดมัน โรเบิร์ตส เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมาทำสนธิสัญญาไมตรีและการค้ากับสยามจุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาฉบับนี้คือการกำหนดระบบอากรที่ใช้กำกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าโดยพ่อค้าชาวอเมริกัน สนธิสัญญาฉบับดังนี้นับเป็นฉบับแรกที่สหรัฐฯ ลงนามเป็นคู่สัญญากับประเทศในเอเชีย

ในการเจรจาทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่าย ได้มีการแลกเปลี่ยนบรรณาการระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยนายโรเบิร์ตส เป็นผู้แทนประธานาธิบดีแจ็กสันถวายดาบฝักทองคำที่มีด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้างศึก สัญลักษณ์ของทั้งสองประเทศแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้พระราชทานดีบุก งาช้าง ไม้ให้แก่ประธานาธิบดีแจ็กสันเป็นการตอบแทน นายโรเบิร์ตส์ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า "เมื่อวาน และวันนี้ได้รับสิ่งของพระราชทาน ผ่านเจ้าพระยาคลัง ดังนี้ งาช้าง น้ำตาล น้ำตาลปึก พริกไทย กระวาน รงทอง ไม้กฤษณา ไม้ฝาง และคราม" หลังจากนั้นในปีพ.ศ.๒๓๙๙ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นต้นมามีคณะหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันหลายคนเดินทางเข้ามาในสยามเช่น ดร.เดวิด แอบบีล,ดร.วิลเลี่ยม คลิฟตัน ดอดด์ และ ดร.แดเนี่ยล แบรดเลย์หรือที่คนไทยเรียกกันว่าหมอบรัดเลย์ เป็นต้น

ชาวอเมริกันได้มาจัดตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนทั้งที่กรุงเทพฯและในหัวเมืองใหญ่ๆในส่วนภูมิภาค เช่นรพ.กรุงเทพคริสเตียน รพ.แมคคอร์มิค รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รร.วัฒนาวิทยาลัย รร.ปรินซ์รอยัล รร.ดาราวิทยาลัย และมีคนอเมริกันมาตั้งรกรากที่กรุงเทพฯเชียงใหม่ เชียงราย และอีกหลายๆเมืองไม่น้อย

หลังจากนั้นในสมัยต่อๆมาพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงมีพระราชสาส์นติดต่อกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหลายคน  และประธานาธิบดีสหรัฐก็เดินทางมาเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพ้นตำแหน่งแล้วในปีพ.ศ.๒๔๒๒ ที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย

นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เสด็จฯทรงเยือนสหรัฐอเมริกาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.๒๔๔๕ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ และ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จฯ ในปี ๒๔๖๙ ขณะเป็นพระโอรสของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์

ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ ทรงประสูติที่สหรัฐอเมริกาและเมื่อครองราชย์แล้วยังเสด็จฯทรงเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึง ๒ ครั้ง ในปีพ.ศ.๒๕๐๓ และปี พ.ศ.๒๕๑๐ 

หลังจากการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการในครั้งแรกแล้วพระมหากษัตริย์ไทยยังได้พระราชทานของขวัญให้แก่ชาวอเมริกันอีกหลายครั้ง เช่น ขันถมทอง พานรองถมทอง กาน้ำถมทอง กรรไกรเครื่องตัดผมถมทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ พ.ศ. ๒๓๙๙  ชุดเชี่ยนหมากถมตะทองและชุดเครื่องแป้งถมตะทอง กาน้ำ ซองพลู พานรอง ขัน โถปริก และกระโถนปากแตรใหญ่ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่สถาบันสมิธโซเนียน พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นต้น