เซินเจิ้น…หัวใจอุสาหกรรมเครื่องประดับจีน

12 / 05 / 2564 16:27

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับจีนกระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้งเป็นหลัก โดยมีเมืองเซินเจิ้นและเขตปันหยูของเมืองกวางโจวซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเป็นศูนย์กลางการผลิต เฉพาะที่เมืองเซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของธุรกิจเครื่องประดับกว่า 30,000 ราย โดย 8,900 รายตั้งอยู่ในพื้นที่ Shuibei ในเขต Luohu ซึ่งเครื่องประดับจากเซินเจิ้นกว่าร้อยละ 90 ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ ดังนั้นแม้จะเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นปัจจุบัน เซินเจิ้นก็ยังช่วยให้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับในจีนมีหลายกลุ่มที่มีความต้องการแตกต่างกันไป เช่นผู้บริโภครุ่นใหม่มีความต้องการเครื่องประดับประเภทเพชรสีแฟนซี เพชรรูปทรงแฟนซี และพลอยสีมากกว่าเครื่องประดับทองรูปแบบเดิมๆในขณะที่วัสดุใหม่ๆอย่างเซรามิก ไทเทเนียม และแพลเลเดียม ก็ได้เข้ามามีบทบาทในงานออกแบบเครื่องประดับมากขึ้น ผู้ผลิตจึงพยายามนำเทคโนโลยีและนวตกรรมมาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาด เช่นการใช้ทองคำเนื้อแข็งแบบสามมิติ (3D hard gold) การนำเทคนิคการทำทองแบบจีนโบราณกลับมาใช้ในการผลิตยุคปัจจุบันเป็นต้น

หลายปีที่ผ่านมาผู้ผลิตจีนลงทุนด้านนวัตกรรมและการออกแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่หลากหลาย โดยเฉพาะในเซินเจิ้นที่มีการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมรวมถึงการวิจัยและพัฒนาโดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี วัสดุ เทคนิค และรูปแบบใหม่ๆเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิต ค้นหาโอกาสใหม่ๆในตลาดรวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในแง่คุณภาพมากขึ้น

ในเมืองเซินเจิ้น มีศูนย์กลางการค้าและตลาดขายส่งเครื่องประดับราว 30 แห่ง มีแรงงานกว่า 250,000 คน มูลค่าการผลิตและการค้าเครื่องประดับราว 150,000 ล้านหยวนต่อปี (ราว 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) แต่ละปีมีการนำเข้าทองคำและแพลทินัมเข้ามาใช้ในการผลิตกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการซื้อขายทองคำและแพลทินัมในตลาดแลกเปลี่ยนทองคำเซี่ยงไฮ้ จำนวนเพชรร่วงที่ใช้ในเครื่องประดับคิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณการซื้อขายเพชรร่วงตามปกติในตลาดแลกเปลี่ยนเพชรเซี่ยงไฮ้

กระบวนการผลิตของจีนก็กำลังผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้การประสานงานและการทำงานโปร่งใสมากขึ้นตลอดวงจรการผลิต นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ได้ด้วย