ฤาดอลลาร์จะสิ้นมนต์ขลัง เมื่อธนาคารการทั่วโลกหันมาถือทองคำแทน

01 / 06 / 2564 22:01

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานสัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 59%ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต่างหันไปเพิ่มการถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของทองคำเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในรายงาน Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves (COFER)ซึ่งเป็นการสำรวจสกุลเงินต่างๆในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศของ IMF ระบุว่า  สัดส่วนสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่บรรดาแบงก์ชาติถือครองในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเฉลี่ย 12% นับตั้งแต่ที่สกุลเงินยูโรเปิดตัวใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 1999 โดยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2020 สัดส่วนของสกุลเงินยูโร ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 20% ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา และเงินหยวนของจีน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 9%

นักวิเคราะห์มองว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าบทบาทของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกกำลังลดลง ท่ามกลางการแข่งขันของอีกหลายสกุลเงิน บวกกับได้แรงเสริมจากการที่ธนาคารกลางของหลายประเทศเทขายสกุลเงินดอลลาร์ออก เพื่อหันมาประคองสกุลเงินของประเทศตนเองในช่วงที่จำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด
 
ขณะเดียวกันในมุมมองระยะยาว IMF ระบุว่า แม้ภาพรวมมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่สัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกที่ลดลง ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ธนาคารกลางทั้งหลายเริ่มมองหาทางเลือกอื่นสำหรับการเก็บทุนสำรองระหว่างประเทศนอกเหนือจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) และชาติกำลังพัฒนา จะก้าวเข้ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก IMF ให้เหตุผลว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้กำลังมองหาทางเลือกในการเก็บทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยมีบางประเทศ เช่น รัสเซีย ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าต้องการลดสัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ เพราะความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อและปริมาณหนี้ที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ นอกจากจัดสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการไปถือครองสกุลเงินชาติอื่น ซึ่งหมายรวมถึงสกุลเงินของประเทศตนเองแล้ว ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต่างหันไปเพิ่มการถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของทองคำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกขยับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย