ใครที่ใช้...ทองคำ และส่งผลต่อราคาทองคำอย่างไร

01 / 06 / 2564 22:01

การระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจทั่วโลกพังครืน กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงแต่ทำไมราคาทองคำทะยานขึ้นไม่หยุด ทั้งนี้เพราะทองคำถูกใช้ไปในหลายบทบาท โดยการใช้ทองคำ ประกอบไปด้วยความต้องการจาก 4 กลุ่มหลัก คือ ภาคเครื่องประดับ ภาคเทคโนโลยี ภาคธนาคารกลาง และภาคการลงทุน
 
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สวนทางกันอย่างชัดเจน นั่นคือความต้องการบริโภคทองคำจากจีนและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ใช้ทองคำมากที่สุดในโลกลดลงในขณะที่ความต้องการเพื่อการลงทุนจากกองทุน ETF ทองคำเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

ในปี 2020 ความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับจากจีนและอินเดียลดลงเหลือ 1,411.6 ตัน ลดลง 34% จากปี 2019 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ WGC เริ่มจดบันทึกตัวเลขดังกล่าว แต่ความต้องการทองคำด้านการลงทุนกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยการถือครองทองในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 877.1 ตันซึ่งถือเป็นการถือครองสูงสุดที่ 3,751.5 ตัน ขณะที่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% ไปอยู่ที่ระดับ 896.1 ตันจะเห็นได้ว่าความต้องการลงทุนในปี 2020 มีความโดดเด่นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยชดเชยการลดลงของอุปสงค์ในภาคเครื่องประดับและภาคธนาคารกลาง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาทองคำในปีที่แล้วอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในปีนี้( 2021) ความต้องการลงทุนในภาค ETF ทองคำกลับมาชะลอตัวลง สวนทางกับความต้องการทองจากจีนและอินเดียซึ่งถือเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลก โดยบริโภคทองคำรวมกันเกือบ 2,000 ตันต่อปี มีแนวโน้มฟื้นตัวสะท้อนจากยอดนำเข้าทองคำของอินเดียจากต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้นกว่า 7 เท่า แตะที่ระดับ 98.6 ตันในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับระดับของปีก่อนหน้าที่ 13 ตัน แตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 Reuters ยังมีการรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ทางการจีนได้กลับมาอนุญาตให้ธนาคารในประเทศและต่างประเทศนำเข้าทองคำจำนวนมากหลังจากไม่ได้โควตาการนำเข้ามาระยะหนึ่ง

ปริมาณการนำเข้าของจีนและอินเดีย เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาของความต้องการทองคำ ซึ่งหากแรงซื้อจากจีนและอินเดียกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำได้