อินเดีย...ผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการส่งออก

01 / 06 / 2564 22:02

ประเทศอินเดียส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากแร่เชื้อเพลิงและสารสกัดจากปิโตรเลียม คิดเป็นสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศโดยรวม มีผู้ประกอบการกว่า 500,000 ราย และมีการจ้างงานทั่วประเทศราว 5 ล้านคน ในธุรกิจการเจียระไนเพชรขนาดเล็ก ธุรกิจเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง รวมถึงอัญมณีสังเคราะห์
            
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากมูลค่าส่งออกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551จากมูลค่า 19,186 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 34,000 ล้านเหรียญ-สหรัฐในปี 2553  ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินดียทำสถิติสูงสุดในปี 2554 ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 5หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 อินเดียเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับที่ 6 ของโลก
            
การเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียมาจากหลากปัจจัย เช่น มีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยอินเดียมีเหมืองแร่ทองคำ เพชร และอัญมณีหลากหลายชนิด กระจายอยู่ในหลายรัฐของประเทศ และทักษะฝีมือแรงงานของอินเดียที่มีความชำนาญสูงในการเจียระไนเพชร พลอยสี และการผลิตเครื่องประดับ รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ  โดยเฉพาะความชำนาญสูงในการเจียระไนเพชรขนาดเล็ก และพลอยสีระดับราคาปานกลางลงมาจนถึงต่ำ ทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการเจียระไนและการค้าเพชรขนาดเล็กและพลอยสีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

ศูนย์กลางการเจียระไนเพชรอยู่ที่เมืองสุรัต ซึ่งเป็นแหล่งเจียระไนเพชรราวร้อยละ 80 ของเพชรที่เจียระไนทั้งหมดในประเทศ ส่วนเมืองอื่นๆ ที่มีการเจียระไนเพชร ได้แก่ เมืองบาฟนาการ์  และเมืองอาห์เมดาบัด ในรัฐคุชราต สำหรับการเจียระไนพลอยสีส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองจัยปูร์  รัฐราชสถาน (Rajasthan) ถือเป็นศูนย์กลางการเจียระไนพลอยสีของประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2563 อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกเพชรสำคัญในอันดับที่ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 5 ของโลก พร้อมตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้เจียระไนเพชรขนาดใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย

ข้อมูล :GIT