นโยบายภาครัฐ ปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย ก้าวสู่ผู้นำการส่งออก

01 / 06 / 2564 22:04

นอกจากผู้ประกอบการอินเดียจะพัฒนาตนเองแล้ว ภาครัฐยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง  โดยมี Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานเฉพาะที่รัฐบาลอินเดียจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีช่วยพัฒนาทักษะแรงงานทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับมาตรการด้านภาษี

รัฐบาลอีนเดียลดภาษีนำเข้าโลหะทองคำและเงินจากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 7.5 ส่วนแพลทินัม และพาลาเดียม ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 12.5 เหลือร้อยละ 10 และหันไปเพิ่มภาษีนำเข้าเพชรเทียม และอัญมณีสังเคราะห์จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 เพื่อป้องกันการเข้าไปแข่งขันของสินค้าจากจีน ส่วนภาษีนำเข้าเพชรแท้และเพชรสังเคราะห์ ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 7.5 นอจากนี้ยังลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 22 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าและผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ และให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขอคืนภาษีสินค้าและบริการจากการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียได้ ซึ่งมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.25 – 3ได้ 

มีการผ่อนปรนกฎระเบียบ โดยอนุญาตให้นักธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำสินค้าติดตัวออกไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติหรือเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมอนุญาตให้ไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งสำหรับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะกระจายอยู่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ เมืองมุมไบ ไฮเดอราบัด และจัยปูร์ เป็นต้น เพื่อจูงใจบริษัทของทั้งชาวอินเดียและต่างชาติให้เข้าไปประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับในเขตพิเศษ โดยมอบสิทธิพิเศษทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี และให้สิทธิชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการอัญมณีและเครื่องประดับได้ร้อยละ 100 โดยดำเนินการผ่านช่องทางอัตโนมัติ ซึ่งทำให้การขออนุญาตทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังทีความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่นลงนามความร่วมมือ (MOU) กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อขยายการค้าและการลงทุนอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน อาทิ รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  อีกทั้งนโยบาย Make In India  ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2557ก็จะช่วยยกระดับเครื่องประดับอินเดียสู่มาตรฐานการส่งออกซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้มากขึ้น โดยอินเดียตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเป็น 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีก 2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2565 
            
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย มาจากปัจจัยที่หลากหลายจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดส่งผลให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนอย่างในปัจจุบันนี้ 

ข้อมูล :GIT