หัวนะโม...จากความเชื่อสู่เครื่องประดับ

09 / 08 / 2564 08:21

“หัวนะโม” เครื่องรางที่ชาวใต้เชื่อว่าสามารถป้องกันอันตราย หรือป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ กลายมาเป็นเครื่องประดับหลากหลายรูปแบบที่ให้ทั้งความสวยงามและความเป็นสิริมงคลไปพร้อมๆกัน และจากหัวนะโมที่ทำจากเงินยวง ก็ถูกนำไปประกอบและผสมผสานกับเครื่องทอง หรือเครื่องถม เพื่อทำเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ แหวน หรือแม้กระทั่งตุ้มหู

จุดเริ่มต้นของหัวนะโม ต้องย้อนไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 หัวนะโมเป็นเบี้ยที่ไว้ใช้แทนเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนเปลี่ยนสินค้าของอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โดยทำจากโลหะ เหตุที่ชื่อว่าหัวนะโมนั้น มาจากการจารึกอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณ ที่เรียกว่าตัว “นะ” ไว้บนเม็ดเงินที่มีลักษณะกลม และเมื่อสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดขึ้น จึงได้มีการทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมขึ้นมาด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ โดยอัญเชิญเทพเจ้าสามพระองค์ ซึ่งได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม แล้วนำไปหว่านยังจุดที่มีโรคระบาด และรอบๆ บริเวณเมือง ปรากฎว่าโรคระบาดได้หายไป และอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองนครศรีธรรมราชเช่นกัน จึงได้ทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมเพื่อนำไปหว่านแบบกาลก่อน ซึ่งโรคระบาดนั้นก็ได้หายไปเหมือนเดิม จึงเป็นเหตุให้ “หัวนะโม” เป็นของมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครศรีธรรมราชที่ส่วนใหญ่จะพกของมงคลนี้ติดตัว

การทำหัวนะโมในอดีตเป็นการนำเงินยวง ซึงเป็นโลหะเงินบริสุทธิ์ มีความขาวและนิ่ม มาตอกตรานะโมลงไป และขึ้นรูปเป็นเม็ดกลม ในอดีตมีการใส่ปรอทไว้ด้านในเพราะเชื่อว่าเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์  แต่การทำหัวนะโมในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต ทั้งเรื่องของโลหะเงินที่นำมาใช้ตอกตราหัวนะโมก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้จัดทำ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นโลหะเงินทั่วไป ไม่ได้มีการใส่ปรอทเข้าไปในช่องว่างด้านใน ส่วนในเรื่องของพิธีกรรมก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลอีกเช่นกัน บางคนนิยมหัวนะโมที่ผ่านพิธีปลุกเสกมาแล้ว แต่บางคนเชื่อว่าขอแค่เป็นหัวนะโมก็มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีปลุกเสกใดๆ หรือบางคนก็นำหัวนะโมที่ยังไม่ได้ปลุกเสกไปร่วมงานร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการปลุกเสกก็มี

ดังนั้นการใส่หัวนะโมในปัจจุบันไม่ได้ดูเคร่งขรึมเหมือนในอดีต แต่เป็นความเชื่อที่ผสมสานกับความสวยงามที่สวมใส่เป็นเครื่องประดับได้ด้วย