เอื้องแมลงปอทอง

15 / 08 / 2564 08:30

เอื้องแมลงปอทอง หรือ หวายเข็ม เป็นกล้วยไม้ในสกุลหวาย ซึ่งเป็นสกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์

เอื้องแมลงปอทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Micropera pallida (Roxb.) Lindl. มี ลักษณะลำต้นยาวเรียว ใบรูปแถบ กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 5-8 ซม. ปลายใบเว้า ดอกช่อแบบกระจะ ออกตามข้อ ช่อดอกยาว 4-7 ซม. ดอกในช่อ 2-6 ดอก เกิดค่อนไปทางปลายช่อ ทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ดอกขนาด 0.5-0.6 เซนติเมตร สีเหลืองสด ด้านหลังกลีบเลี้ยงมีแถบสีน้ำตาลแดง กลีบปากมีลักษณะเป็นโพรง ช่วงออกดอกราวเดือน กรกฎาคม – กันยายน เป็นกล้วยไม้ลักษณะอิงอาศัยพบทั้งในป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบแถบอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย

กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ

ทั้งนี้เอื้องแมลงปอทองเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส เป็นกล้วยไม้หวายป่าของไทยที่มีสีสวยงาม  เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุล“เอื้อง” ต่างๆ เช่น เอื้องผึ้ง เอื้องม่อนไข่ เหลืองจันทบูร พวงหยก เอื้องช้างน้าว เอื้องมัจฉาณุ เอื้องเงินหลวง เอื้องเงินเป็นต้น