เอื้องเข็มทอง

16 / 08 / 2564 08:40

เอื้องเข็มทอง หรือ เอื้องผีเสื้อทอง เป็นกล้วยไม้ป่าสกุลหวายที่อยู่ในกลุ่มพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส เป็นพืชที่ถูกรุกรานและพบเห็นได้ยากในธรรมชาติ การกระจายพันธุ์อยู่ในมาเลเซียและภาคใต้ของไทย

เอื้องเข็มทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์Pennilabium struthio Carr ลักษณะลำต้นสั้นมาก ใบรูปรีขนาด 2.5 x 10 เซนติเมตร จำนวน 3-4 ใบ แผ่นใบเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร มีดอกที่ปลายช่อของแต่ละช่อ  ดอกน้อย ทยอยบานทีละดอกเท่านั้น ก้านดอกยาว 1.5 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ขนาด 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่แกมรูปรีงุ้ม ที่ปลายมีสัน ขอบกลีบหยักและมีจุดสีน้ำตาลแดง กลีบปากสั้น มีหูกลีบขนาดใหญ่รูปพัด ยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร สีขาว และปลายหยักเป็นครุย เดือยดอกสีเหลืองครีม ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายเดือยโป่งพองประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว เส้าเกสรสั้นไม่มีคาง ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม

เอื้องเข็มทอง เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบในป่าดิบชื้นระดับต่ำ มักพบใกล้ลำธารบนไม้ พุ่มเตี้ยแสงแดดน้อย มีการสำรวจพบเอื้องผีเสื้อทองจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ขึ้นอยู่บนต้นชมพู่น้ำบริเวณริมเขาหินปูนผาเทวดา บริเวณภูเขียวน่าจะเป็นจุดสูงสุดที่เอื้องเข็มทองกระจายพันธุ์มาถึง

ในพื้นที่ป่าภาคใต้ พบกล้วยไม้ป่าจำนวน 97 ชนิด 42 สกุล ในจำนวนนี้สกุลหวาย (Dendrobium) พบมากที่สุด จำนวน 23 ชนิด สกุลที่พบรองลงมา คือสกุลสิงโต (Bulbophyllum) จำนวน 20 ชนิด สกุลที่พบเพียง 1 ชนิด มี 31 สกุล บางชนิดเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก หลงเหลือในธรรมชาติน้อยมาก เช่น รองเท้านารีม่วงสงขลา กะเรกะร่อน ซิมบิเดียมคลอแรนทัม เอื้องปากนกแก้ว และอีกหลายชนิด