ตลาดเครื่องประดับในจีนฟื้นก่อนใคร ภายใต้สถานการณ์โควิด

17 / 08 / 2564 08:53

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ของจีนรางานยอดขายปลีกเครื่องประดับจากบริษัทที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 5 ล้านหยวน (770,000 เหรียญสหรัฐ) ว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 98.7 เป็น 54,500 ล้านหยวน (8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของช่วงเดือนเดียวกันในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ร้อยละ 8.2 แสดงให้เห็นว่าตลาดเครื่องประดับจีนกำลังฟื้นตัวจากจากโรคระบาดแล้ว
           
การระบาดของ Covid-19 ในช่วงแรกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ผู้ขายเครื่องประดับในปี 2020 แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีที่ผ่านมา ก็ช่วยชดเชยยอดขายที่ลดลงตอนต้นปีได้ให้ตัวเลขรวมของรายได้ลดลงไม่มากนัก เป็นที่น่าสังเกตุว่า การจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศช่วยกระตุ้นธุรกิจแบรนด์เครื่องประดับหรูหราระดับสากลย่าง Tiffany & Co ให้มียอดขายในจีนแผ่นดินใหญ่เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 70 ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 แสดงให้เห็นว่า การซื้อทางออนไลน์ในจีนซึ่งแข็งแกร่งอยู่แล้วมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส ยิ่งขยายตัวมากขึ้นในช่วงปิดเมืองและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
           
มีรายงานจาก บริษัทวิจัยระบุว่า ในปี 2020 ยอดขายอีคอมเมิร์ซผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในจีนอยู่ที่ 1.18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่าสามเท่าของยอดเดียวกันในสหรัฐ บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของการชำระเงินภายในร้าน ขณะที่การชำระเงินผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2024 น่าจะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 16 และร้อยละ 15 ตามลำดับจากการชำระเงินภายในร้านทั้งหมด ส่วนการใช้เงินสดซึ่งเริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้วนั้นคาดว่าจะเหลือน้อยกว่าร้อยละ 6 ภายในปี 2024
           
แบรนด์เครื่องประดับจึงหันมาเน้นการนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดีย ช่องทางบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และช่องทางดิจิทัลเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและเจาะตลาดในจีน อาทิ Tiffany & Co, Bulgari, Cartier และ Louis Vuitton เป็นหนึ่งในบรรดาแบรนด์ต่างประเทศที่นำเสนอเครื่องประดับและสินค้าหรูหราอื่นๆ ผ่านมินิโปรแกรมในภาษาจีนของ WeChat ซึ่งรองรับการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 
           
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับของจีนเปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิงในแง่ของความนิยมในผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ ผู้บริโภคจีนยังคงชื่นชอบเครื่องประดับทองล้วน ซึ่งเป็นสินค้าคงคลังที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ในร้านเครื่องประดับหลายแห่ง  ตลาดจีนมองว่าเครื่องประดับทองเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรจากสิ่งที่มีมูลค่าอยู่แล้วในตัวเอง เครื่องประดับกลุ่มนี้ไม่เพียงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคอายุมาก แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งมีความคาดหวังสูงกว่าในแง่ฝีมือช่างและการออกแบบ โดยเปลี่ยนจากเครื่องประดับทองล้วนน้ำหนักมากไปเป็นเครื่องประดับทองที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีน้ำหนักเบา เน้นงานออกแบบที่ละเอียดประณีต และแสดงให้เห็นนวัตกรรมด้านวัสดุและเทคโนโลยีมากกว่าน้ำหนัก 

ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวจีนจะเริ่มออกเดินทางอีกครั้งในปี 2022 หรือ 2023 จนกว่าจะถึงเวลานั้น แบรนด์สินค้าหรูและธุรกิจเครื่องประดับ จะยังคงได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้าภายในประเทศผ่านออนไลน์ออนไลน์ต่อไป ซึ่งจะทำให้ตลาดเครื่องประดับของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โควิด19 ทั่วโลก