
เงินตราของไทย จากสุโขทัย-รัตนโกสินทร์
09 / 10 / 2564 09:04
การซื้อขายแลกเปลี่ยนในสมัยโบราณ หรือที่เรียกว่าระบบมาตราเงินของไทยนั้น มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนมาถึงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เบี้ย หอย พดด้วง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง เหรียญทองคำ จนมาถึงเหรียญกษาปณ์ ซึ่งมีมูลค่าและอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างกันดังนี้
ในสมัยสุโขทัย 1 ชั่ง = 20 ตำลึง 1 ตำลึง = 4 บาท 1 บาท= 4 สลึง 1 สลึง = 2 เฟื้อง ถัดจากเฟื้องมาก็เป็นเบี้ย โดย 1 เฟื้อง= 400 เบี้ย
ในสมัยอยุธยา มาตราเงินคงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย แต่ 1 เฟื้องหนึ่งเท่ากับ 800 เบี้ย เงินที่ใช้มาแต่โบราณเป็นเงินกลม เรียกว่า เงินพดด้วง ในสมัยสุโขทัยมีขนาด 1 ตำลึง และ 1 บาท สมัยอยุธยาใช้เงินพดด้วงอย่างเดียว มีสี่ขนาดคือ 1 บาท 2 สลึง 1 สลึง และ 1 เฟื้อง
สมัยรัตนโกสินทร์ มาตราเงินคงเป็นอย่างเดียวกับสมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัชกาลที่4 โปรดให้ตั้ง โรงกษาปณ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2403 และทำเงินตราใหม่เป็นรูปแบบกลมเรียกกันว่า เงินเหรียญ มีทั้งหมด 4 ขนาดคือ 1 บาท 2 สลึง และขนาด 1 เฟื้อง โดยทำเหรียญขนาด 1 ตำลึง กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง ไว้ด้วย แต่ไม่ได้นำไปใช้ในท้องตลาด ต่อมาในปี พ.ศ.2405 โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเหรียญดีบุก เป็นเงินปลีกขึ้นใช้แทนเบี้ยอีกสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "อัฐ" กำหนดให้ 8 อัฐ เป็น 1 เฟื้อง ขนาดเล็กเรียกว่า "โสฬส" กำหนดให้ 16 โสฬส เป็น 1 เฟื้อง
พ.ศ.2406 โปรดให้ทำเหรียญทองคำขึ้นสามขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ทศ" ราคา 10 อัน ต่อ 1 ชั่ง คือ อันละ 8 บาท ขนาดกลางเรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ 4 บาท ขนาดเล็กเรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละ 10 สลึง
ต่อมาในปี พ.ศ.2408 โปรดให้ทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้เป็นเงินปลีกมีสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ซีก" สองอันเป็น 1 เฟื้อง และขนาดเล็ก เรียกว่า "เสี้ยว" สี่อันเป็น 1 เฟื้อง