ตลาดเครื่องประดับเพชรและทองยังเติบโตต่อเนื่องในจีน

10 / 11 / 2564 11:36

ผลจากการปิดเมืองเพราะโรคระบาดและการจำกัดการเดินทางในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนต้องหยุดใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่หันมาซื้อสินค้าหรูหราอย่างอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2020 มียอดค้าปลีกเครื่องประดับทั้งเพชรและทองมากถึง 88.43 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

เมืองระดับ 1 หรือเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ได้แก่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น มียอดขายเครื่องประดับเพชรเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20-30 ต่อปี แซงหน้ายอดขายเครื่องประดับทองแบบดั้งเดิม เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองระดับ 1 ต่างหันมานิยมเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรมากขึ้น ขณะที่เมืองขนาดรองซึ่งหมายรวมถึงเมืองขนาดใหญ่อีกราว 30 เมืองและเมืองอื่นๆที่กำลังเติบโต ยังคงนิยมเครื่องประดับทองแบบดั้งเดิม

การบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากการดำเนินกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2020 คือการเน้นกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ที่เรียกว่ากลยุทธ์ “Dual Circulation Strategy คือเน้นการส่งเสริมให้ชาวจีนซื้อสินค้าจากที่บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ จากข้อมูลทางการตลาดล่าสุดของบริษัทเครื่องประดับยักใหญ่คาดว่ายอดขายจากตลาดผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีต่อจากนี้เป็นต้นไป 
           
ในแผนเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับล่าสุดของจีนซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2021 - 2025 เป้าหมายทางเศรษฐกิจคือ การกระตุ้นการบริโภคในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของชนชั้นกลาง แผนดังกล่าวประกอบด้วยโครงการขั้นต้นที่จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของจีนให้มีมูลค่าเทียบเท่า 30,000 เหรียญสหรัฐภายในปี 2035 หรือเกือบ 3 เท่าของระดับ GDP ต่อหัวในปี 2020 ที่ 10,500 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดผู้บริโภครายใหญ่อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมเพชรโลกและทองคำ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามข้อมูลจากธนาคารโลก GDP ต่อหัวในปี 2020 ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย อยู่ที่ราว 63,543 เหรียญสหรัฐ, 40,113 เหรียญสหรัฐ และ 1,900 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยจีนมีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน ขณะที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย มีประชากรประมาณ 329.48 ล้านคน, 125.84 ล้านคน และ 1,380 ล้านคน ตามลำดับ
Chow Tai Fook ผู้ขายเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดของจีน ระบุว่าในไตรมาสที่สองของปีนี้ ยอดขายทั้งบริษัทพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มสูงขึ้น และมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดฮ่องกงและมาเก๊า