ทิศทางการค้าอัญมณี ในปี 2022

05 / 03 / 2565 09:16

จากข้อมูลของ PR Newswire ในเครือ Cision ผู้ให้บริการเผยแพร่ข่าวสาร ระบุว่าในปี 2020 การค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกจะมีมูลค่าราว 366,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 451,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่การดำรงธุรกิจให้ยังคงอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้ซื้อในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับประกอบด้วย
           
หนึ่ง การซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับต่างหันมาให้ความสำคัญกับตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะผู้ซื้อเกือบทั้งหมดหันมาซื้อสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้ช่องทางอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงขึ้น จาากรายงานของ Bain & Company ระบุว่า ในปี 2020 ยอดขายปลีกเพชรออนไลน์เพิ่มขึ้น 20% หรือจากรายงานของ Mastercard ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2021 ตลาดสหรัฐฯ มียอดซื้อเครื่องประดับออนไลน์พุ่งสูงถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การค้าอีคอมเมิร์ซและการโต้ตอบลูกค้าออนไลน์ กลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น

สอง การค้นหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันผู้ซื้อมักต้องการความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่จะซื้อ โดยเฉพาะอัญมณีราคาแพง จึงมักค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ก่อนการตัดสินใจซื้อ ฉะนั้นการสื่อสารข้อมูลให้กับลูกค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยช่องทางที่นิยม ได้แก่ Instagram Facebook หรือ YouTube ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์กระแสหลักที่นิยมใช้งานทั่วโลก

สาม การเติบโตของการบริโภคอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับที่มีจริยธรรมและยั่งยืน นับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคจำนวน 8,400 รายในสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็น 7 ตลาดผู้บริโภคเพชรหลักของโลก พบว่า ผู้บริโภคราว 60% พิจารณาปัจจัยความยั่งยืนก่อนการตัดสินใจซื้อ และอีกกว่า 80% ได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างที่เลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังพบว่า เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อบ่อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากอาหารและเสื้อผ้า โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านความยั่งยืนเป็นหลัก สำหรับเครื่องประดับเพชร การพิจารณาความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคในทุกตลาด
ดังนั้น ความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นกระแสหลักให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในอนาคตต้องปรับตัวในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สวยงาม ด้วยการใช้วัตถุดิบซึ่งมีแหล่งที่มาโปร่งใสและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย