
ทองเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
23 / 08 / 2561 10:07
ทองรูปพรรณที่ขายกันทั่วไปในร้านขายทองของแต่ละประเทศ ดูภายนอกอาจมีสีสันและเรียกว่าทองเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมีส่วนผสมและความบริสุทธิ์ของเนื้อทองแตกต่างกัน ตามความนิยมและลักษณะการใช้สอย
อย่างที่เราทราบกันว่าทองคำบริสุทธินั้นมีเนื้ออ่อนนุ่มถ้านำมาทำเป็นทองรูปพรรณโดยตรงจะทำให้บุบ และเสียรูปได้ง่าย จึงมีการนำทองคำบริสุทธิ์ไปผสมกับโลหะอื่นๆเช่น เงิน ทองแดง นิกเกล และสังกะสี เพื่อให้เนื้อแข็งและคงรูปได้ดีขึ้นเมื่อนำไปทำทองรูปพรรณซึ่งอัตราส่วนจะขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิตทองแต่ละราย แต่ละประเทศ บางรายอาจผสมทองแดงในสัดส่วนที่มาก เพื่อให้สีของทองออกมามีสีอมแดง หรือบางรายอาจชอบให้ทองมีสีเหลืองขาวก็จะผสมเงินเพื่อให้สีอ่อนลงเป็นต้น
สำหรับการกำหนดคุณภาพทองคำในประเทศไทย เราใช้มาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำเท่ากับ 96.5% หรือ 23.16 กะรัต หรือ 24 กะรัต หากมีโลหะอื่นผสมอยู่มาก ความบริสุทธิ์ของทองคำก็จะลดต่ำลงมา เราก็จะเรียกทองเหล่านั้นตามเนื้อทองบริสุทธิ์ที่ผสมอยู่ เช่น ทอง 14 กะรัต หรือทอง K หมายถึง ทองที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์ 14 ส่วน และมีโลหะอื่นเจือปน 10 ส่วน เป็นต้น
ส่วนทองรูปพรรณของประเทศต่างๆกจะมีสัดส่วนของโลหะอื่นๆแตกต่างกันตามความนิยม คือ
กะรัต/หน่วย | %ความบริสุทธิ์ | เฉดสีที่ได้ | ประเทศที่นิยม |
24 K | 99.99% | ทอง | สวิส จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย |
23.16 K | 96.5% | เหลืองทองเข้ม | ไทย |
22 K | 91.7% | เหลืองทอง | อินเดีย อินเดีย ตะวันออกกลาง มาเลย์ สิงคโปร์ |
21 K | 87.5% | เหลืองทอง | กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง |
18 K | 75% | เหลือง | อิตาลี สวิส ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา |
14 K | 58.3% | เหลือง | สหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ อังกฤษ เยอรมัน |
10 K | 41.6% | เหลือง | สหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ |
9 K | 37.5% | เหลืองปนเขียว | อังกฤษ |
8 K | 33.3% | เหลืองซีด | เยอรมัน อิตาลี กรีซ |
เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมซื้อทองมาจากต่างประเทศ แต่มาขายในประเทศกลับได้ราคาน้อยว่าที่เราคิด ก็เพราะเปอร์เซ็นความบริสุทธิแตกต่างกันนั่นเอง