"ประตูกะอ์บะฮ์ " ฝีมือช่างไทยในซาอุฯ

11 / 03 / 2565 11:39

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีคณะราชวงศ์ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เยือนประเทศไทย มีเจ้าชายอามีร มายิด  ผู้ว่าการนครมักกะฮ์เป็นหัวหน้าคณะ ติดต่อไม้มะค่าโมงจากประเทศไทยเพื่อเอาไปทำประตูกะอ์บะห์พร้อมหาช่างไม้และช่างทองฝีมือดีของไทยไปร่วมสร้างประตูนี้ด้วย

หลังการประสานงานจากผู้เกี่ยวข้องในที่สุดก็ได้ไม้มะค่าโมงซึ่งมีอายุถึง ๒๐๐ ปี มีความหนา ๓ นิ้ว กว้าง ๑.๖ เมตร ยาวกว่า ๒ เมตร จำนวน ๘ แผ่น ซึ่งไม้นี้เป็นไม้ที่ได้มาจากต้นไม้เพียงต้นเดียวกันใช้เวลาเลื่อยและอบที่ประเทศไทยนาน ๓ เดือน และได้ช่างไม้ 3 คนชื่ออีซา กาสุรงค์ ,ฮุเซ็น และอิ่ม และสุไลมาน ซันหวัง ส่วนช่างทอง ได้แก่ อาลี มูลทรัพย์,ฮุไซนี อารีพงษ์ และคุณกอเซ็ม ชนะชัย

การทำประตูกะอ์บะฮ์นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความร้อนสูงและความชื่นภายในกะบะห์อาจทำให้ไม้นั้นยืดและหดตัวได้ จึงต้องใช้วิธีตัดซอยไม้จากแผ่นใหญ่ออกให้เป็นส่วนที่เล็กลง เพื่อทำการเข้าลิ่ม เหมือนกับบ้านไทยโบราณโดยใช้กาว และตะปูเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้รองรับการยืดหดตัวของไม้

ส่วนในเรื่องของทองนั้นช่างทอง ต้องหลอมและรีดให้เป็นแผ่น ขนาด ๑ คูณ ๓ เมตร แล้วเขียนแบบตัวอักษรอาหรับแล้วจึงตอกเป็นตัวนูน ซึ่งผู้ที่เขียนภาษาก็คือ เช็คอับดุลรอฮีม อามีน  ใช้เวลาในการเขียนนาน ๒ ปีกว่าเนื่องจากป่วยต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นระยะ

สำหรับขั้นตอนในการติดตั้งประตูกะอ์บะฮ์นั้น ผู้ที่คอยดูแลในขณะที่ติดตั้งเป็นประจำคือ เช็คตอฮา อัชชัยบี ผู้ถือกุญแจประตูกะอ์บะฮ์ในขณะนั้น ต้องใช้อุปกรณ์ติดตั้ง เช่น นั่งร้าน ตอนติดตั้งก็ต้องให้ทีมงานช่างไทยไปติดตั้งภายในกะอ์บะฮ์ก็มีประตูอีกบานหนึ่ง เป็นประตูสำหรับช่องที่มีมันไดขึ้นไปยังหลังคากะอ์บะฮ์ โดยจะขึ้นไปเวลาเปลี่ยนผ้าคลุมกะอ์บะฮ์ ใช้เวลาติดตั้งเป็นสัปดาห์
 
"ประตูกะอ์บะฮ์ ฝีมือช่างไทย"นี้ตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดฮะรอม ในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กะอ์บะฮ์เป็นจุดหมายในการหันหน้าไป ของมุสลิมทั่วโลกในเวลาละหมาด และเป็นสถานที่ฏอวาฟ (เวียนรอบ) ในการประกอบพิธีแสวงบุญ คือ อุมเราะฮ์ และฮัจญ์ 

กะอ์บะฮ์  เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า ลูกบาศก์ เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหินธรรมชาติ ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีความกว้างยาวด้านละประมาณ ๔๐ ฟุต และสูงประมาณ ๕๐ ฟุต ผนังทั้งสี่ไม่มีหน้าต่าง มีแต่เพียงประตูด้านเดียว ข้างในว่างเปล่า ตรงมุมด้านหนึ่งของตัวอาคารเป็นที่ตั้งของหินดำ แต่เนื่องจากผ้าคลุมกะอ์บะฮ์นี้มีสีดำ จึงทำให้คนเข้าใจว่าหินดำคือตัวกะอ์บะฮ์ แต่ความจริงแล้วหินดำคือพลอยสีดำที่ติดตั้งอยู่ที่มุมกะอ์บะฮ์ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากะอ์บะฮ์คือหินดำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมุสลิมเคารพบูชา ซึ่งความจริงแล้ว กะอ์บะฮ์เป็นเพียงจุดศูนย์รวมและจุดศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของมุสลิมทั่วโลกเท่านั้น

ข้อมูลจาก อาจารย์เอาลา มูลทรัพย์