วิกฤติปริมาณทองคำสำรองของเวเนซุเอลา

01 / 04 / 2565 14:28

รายงานการเงินของธนาคารกลางเวเนซุเอลาระบุว่าปริมาณทองคำแท่งสำรองของประเทศลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งทองคำนี้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศสำหรับบริหารจัดการการเงินของชาติท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาสังคมที่ยืดเยื้อมานานหลายปี โดยมูลค่าของทองคำสำรองดังกล่าวนี้นับถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่4,560 ล้านดอลลาร์ ลดลง 493 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2563

ในรายงานยังระบุว่า เมื่อปีที่แล้วธนาคารกลางเวเนซุเอลาซื้อทองคำมาสำรองไว้ 79 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ลดลง 7 ตันจากปี 2563 (86 ตัน) และประเมินว่าราคาเฉลี่ยของทองคำสำรองในปี2564 อยุ่ที่ 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่อยู่ที่ 1,833 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ธนาคารกลางเวเนซุเอลาเคยถือครองทองคำมากกว่า 300 ตันมานานหลายทศวรรษ แต่ก็เกิดจุดเปลี่ยนขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่าปี 2558-2560 รัฐบาลจึงเริ่มใช้ทองคำเป็นหลักประกันกู้เงินกับธนาคารของต่างประเทศขณะที่การผลิตน้ำมันลดลง รวมไปถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ขัดขวางการส่งออกน้ำมันดิบทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร หันมาใช้ทองคำเป็นแหล่งเงินทุน ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคมปีก่อนฝ่ายค้านได้กล่าวหารัฐบาลว่าส่งทองคำให้กับประเทศมาลีโดยเครื่องบินของรัสเซียแล้วนำไปขายต่อในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เพื่อแลกกับเงินยูโยและเงินดอลลาร์สหรัฐ

ที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่ารัฐบาลของมาดูโรมาโดยตลอดว่านำทองคำสำรองออกขายมาตั้งแต่เกิดวิกฤติการเมืองในเวเนซุเอลา โดยในปี2562 รัฐบาลของนายมาดูโรได้ขอถอนทองคำมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์จากธนาคารแห่งอังกฤษ (บีโออี) แต่ถูกปฏิเสธและมีรายงานข่าวว่าเวเนซุเอลาขายทองคำจำนวน 15 ตันจากแบงก์ชาติให้กับสหรัฐอารับเอมิเรสต์เพื่อแลกกับเงินยูโร เช่นเดียวกับการถอนทองคำรวม 29 ตันจากธนาคารกลางในกรุงการากัส ให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ในปีเดียวกันแลกกับเงินสกุลยูโรเพื่อนำไปเพิ่มสภาพคล่องและซื้อสินค้าพื้นฐานย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 เวเนซุเอลาก็เคยขายทองคำมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์ให้กับตุรกีมาแล้ว

การนำทองคำออกมาขายนี้เป็นผลมาจากการผลิตน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจล่มสลาย โดนสหรัฐคว่ำบาตรอย่างหนักส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ในขณะที่การขอกู้ระหว่างประเทศเป็นไปได้ยาก