ETF ฉุดทองคำเพื่อการลงทุนลดลง ขณะที่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้น

03 / 04 / 2565 17:01

World Gold Council : WGC รายานตัวเลขการลงทุนทองคำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแบ่งเป็นทองคำแท่งและเหรียญทองคำ กับกองทุนรวม (ETF)ที่อิงกับทองคำ ลดลงร้อยละ 43 อยู่ที่ 1,007 ตัน ในส่วนความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 1,180 ตัน ซึ่งความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 318 ตัน มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ของปี นับตั้งแต่ปี 2559

ปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นมาจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และเยอรมนี ที่ความต้องการส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก สำหรับการถือครอง ETF ที่อิงกับทองคำ ลดลง 173 ตัน ในปี 2564 ซึ่งแตกต่างจากในปี 2563 ที่อยู่ที่ 874 ตัน เนื่องจากนักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะของตลาด บางรายได้ลดการป้องกันความเสี่ยงในช่วงต้นปี เมื่อประชาชนทั่วไปเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การถือครองทองคำมีราคาแพงขึ้น แต่การไหลออกของทองคำมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทองคำปริมาณถึง 2,200 ตัน ที่กองทุน ETF ได้สะสมไว้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สภาทองคำโลกยังจัดทำรายงานแนวโน้มทองคำปี 2565 แยกออกมา โดยประเมินว่า ในปีนี้ทองคำอาจเผชิญกับความเคลื่อนไหวที่คล้ายกับเมื่อปีที่แล้ว แต่จะเผชิญกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางทองคำ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ส่งสัญญาณที่จะใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น โดยจากประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (dot plot) คาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้โครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี)

แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ แต่ประสบการณ์จากอดีตสะท้อนว่า ผลกระทบมีจำกัด และไม่ใช่ว่าธนาคารกลางทุกแห่งจะพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปก่อน เมื่อประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อในระดับสูง ทำให้ยังมีความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง