ธนาคารกลางทั่วโลกสำรองทองคำรวมกันสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษ

04 / 04 / 2565 10:13

มีรายงานว่าธนาคารกลางทั่วโลกมียอดซื้อทองคำสุทธิติดต่อกันนานถึง 12 ปี (2553-2564) โดยในปี 2564 มีปริมาณการซื้ออยู่ที่ 463 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มียอดซื้อสุทธิต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 255 ตัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีทองคำสำรองรวมกันเกือบ 35,600 ตัน สูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี

มีธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่15 แห่ง ซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่มีการซื้อทองคำจำนวนมากจากธนาคารกลางในตลาดพัฒนาแล้ว โดยในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ซื้อทองคำเพิ่มกว่า 26 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบอย่างน้อย 21 ปี ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล ส่งผลให้สิงคโปร์มีทองคำสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 154 ตัน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของทุนสำรองทั้งหมด

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อทองคำมากที่สุดราว 90 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่งผลให้ ธปท. ถือครองทองคำอยู่ที่ 244 ตัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 6 ของทุนสำรองทั้งหมด และกลายเป็นธนาคารกลางที่มีปริมาณการถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รองลงมาเป็นธนาคารกลางอินเดียที่ซื้อทองคำในปีที่แล้ว 77 ตัน มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งซื้อทองคำ 200 ตัน จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และอันดับ 3 คือ ธนาคารกลางฮังการีที่ซื้อทองคำ 63 ตันในปีที่แล้ว เพิ่มปริมาณทองคำสำรอง 3 เท่าจากเดิม

รายงานยังระบุด้วยว่า ราคาทองคำเฉลี่ยในปี 2564 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2563 ราว ๆ ร้อยละ 2 และยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ ด้านการผลิตทองคำในปีที่แล้ว อยู่ที่ 4,666.1 ตัน ลดลงร้อยละ 1 จากปีก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ถือเป็นครั้งแรกที่การผลิตทองคำลดลงติดกันในรอบกว่าทศวรรษ โดยการผลิตจากเหมืองทองคำมีปริมาณอยู่ที่ 3,561 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าปี 2562 เล็กน้อย เช่นเดียวกับการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2557 และปริมาณการรีไซเคิลทองคำอยู่ที่ 1,150 ตัน ลดลงร้อยละ 11

สำหรับการซื้อทองคำในปี 2564 ของไทยมีปริมาสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปริมาณการซื้อทองคำต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และยังสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศยุโรป อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ส่วนใหญ่เป็นความต้องการซื้อของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทองรูปพรรณ