ดิจิทัลเจน พลังขับเคลื่อนตลาดเครื่องประดับในอนาคต

06 / 04 / 2565 12:55

ข้อมูลจาก Alioze แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สัญชาติอังกฤษ ระบุว่าชาวมิลเลนเนียลและชาวเจน Z จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในตลาดสินค้าหรูอย่างเครื่องประดับในอนาคตข้างหน้านี้

ปัจจุบันชาวมิลเลนเนียลมีสัดส่วนใน ตลาดสินค้าหรู 35% และจะขยายตัวเป็น 45% ในปี 2025 ส่วนชาวเจน Z มีสัดส่วนราว 4% ในปัจจุบันและจะขยายตัวเป็น 40% ภายใน 15 ปีจากนี้ โดยในปี 2025 ชาวมิลเลนเนียลและเจน Z จะมีสัดส่วนถึง 55% ในตลาดสินค้าหรู ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาสร้างความเติบโตให้ตลาดทดแทนกลุ่มช่วงอายุมากกว่านี้ซึ่งมีกำลังซื้อสินค้าหรูลดลง

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกซื้อเครื่องประดับของคน 2 กลุ่มนี้ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยชาวมิลเลนเนียล นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ พิถีพิถัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลิตจากแหล่งที่มีจริยธรรม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขณะที่ชาวเจน Z ชอบอ่านรีวิว เปรียบเทียบสินค้า สนใจสินค้าที่ราคาไม่แพงนัก แต่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และกำลังเป็นที่นิยม รวมทั้งการนำเสนอที่ตรงจุด ไม่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ จากการเติบโตของผู้บริโภคหลักทั้งสองกลุ่มนี้ ทำให้มีแบรนด์ชั้นนำในอุตสาหกรรมเริ่มจับตลาดกลุ่มนี้ชัดเจนมากขึ้น
     
ตัวอย่างแบรนด์เครื่องประดับหรูที่เริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับตลาดทั้งสองกลุ่มนี้เช่น  Pandora
บริษัทเครื่องประดับยักษ์ใหญ่ สัญชาติเดนมาร์ก ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ 6-8% ต่อปี ได้ขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z มากขึ้นโดยเน้นไปที่การใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นหลักในการผลิต ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มหลักให้ความสำคัญ

Cartier แบรนด์เครื่องประดับหรูหรา จากฝรั่งเศส ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน (ก่อตั้งในปี 1847) เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่พลิกโฉมหน้าภาพลักษณ์เดิมๆ ด้วยการกล้าที่จะใช้กลยุทธ์การตลาด Digital First กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มชาวมิลเลนเนียลและเจน Z มากขึ้นโดยเฉพาะ ในประเทศจีน

Tiffany & Co อีกหนึ่งแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลก สัญชาติอเมริกันที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดคนวัยมิลเลนเนียลและ Gen Z ด้วยการขยายช่องทางสู่ออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของแบรนด์ ทำให้กลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นเหล่านี้มีความคุ้นเคยกับแบรนด์เพิ่มขึ้น


คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไม่สามารถใช้แนวทางการค้าในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป นอกจากการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนามาตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว รูปแบบของสินค้ากระบวนการผลิต วัตถุดิบ การให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาและอัตลักษณ์ของแบรนด์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน