โอกาสอัญมณีและเครื่องประดับไทยในซาอุดีอาระเบีย
09 / 04 / 2565 08:09
ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีประชากรมากถึง 35 ล้านคน และประชากรมีกำลังซื้อสูง จึงมีศักยภาพในการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจำนวนมาก
แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะมีวัตถุดิบอัญมณีและทองคำ รวมถึงผลิตเครื่องประดับได้เองในประเทศ หากแต่ปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับคนรุ่นใหม่หันมานิยมเครื่องประดับรูปแบบทันสมัยแนวตะวันตกมากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียก็นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่าส่งออกกว่าเท่าตัว แต่นำเข้าจากไทยในสัดส่วนไม่ถึง 1% ดังนั้น การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไปจำหน่ายในตลาดซาอุดิอาระเบียนั้น ก็มีข้อควรระวังที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ คือ รูปแบบสินค้านั้นต้องไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เช่น ต้องไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาของศาสนาอื่นๆ ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน CoC (Certificate of Conformity) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้า SASO (Saudi Arabian Standard Organization) เป็นต้น ทั้งนี้ เครื่องประดับทองที่ส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตั้งแต่ 18 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับเงินจะต้องมีปริมาณเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5% และจะต้องตีตราประทับค่าบริสุทธิ์ให้ถูกต้อง
อนึ่ง ประเทศซาอุดีอาระเบียมีประวัติการทำเหมืองทองมาเป็นเวลาหลายพันปี และมีแหล่งผลิตทองคำในประเทศหลายแห่ง ซึ่งในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียผลิตทองคำได้ประมาณ 400,000 ออนซ์จากเหมือง 5 แห่งที่พัฒนาขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่ามีปริมาณทองคำใต้ดินอยู่ราว 323.7 ตัน และผลการศึกษาปริมาณสำรองแร่ฟอสเฟต ทองคำ ทองแดง ซิงค์ นิกเกิล และแร่หายากอื่นๆ ในประเทศ พบว่ามีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังสามารถพบอัญมณีในพื้นที่ Harrat Al-Hurra ทางตอนใต้ของเมือง Sakaka ซึ่งอัญมณีที่พบ ได้แก่ มูนสโตน แซปไฟร์ เบริล แอมะซอไนต์ ควอตซ์ เพอริโด และการ์เน็ต อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตทองคำและอัญมณีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ